เรียนรู้วิธีป้องกัน “ผื่นแพ้ยุง” ให้ลูกตั้งแต่ตอนนี้

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

 
 
 
ยุงเป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก มี 6 ขา ลำตัวเป็นปล้อง มีปีก 1 คู่ ยุงจะมีหนวดที่ทำหน้าที่รับรู้สารเคมีรอบๆตัว มีปากไว้สำหรับดูดเลือด ยุงในเมืองไทยมีหลายร้อยชนิด ยุงที่ดูดเลือดจะเป็นยุงตัวเมีย ส่วนยุงตัวผู้จะกินน้ำหวานจากดอกไม้ ยุงทุกชนิดทั่วโลกมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ วางไข่ในน้ำ ยุงลายจะวางไข่เหนือน้ำ ยุงแต่ละชนิดมีระยะฟักตัวแตกต่างกัน ขึ้นกับชนิดของยุงและอุณหภูมิของน้ำ ไข่ของยุงส่วนใหญ่จะไม่ทนต่อความแห้งแล้งยกเว้นไข่ของยุงลายจะอยู่ได้นานถึง 2-3 เดือน เป็นเหตุผลที่ทำให้ยังคงมีโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออกตลอดทั้งปี ไม่เฉพาะฤดูฝน

 
  ยากันยุง
ยากันยุงเริ่มมีใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1964 ในกองทัพทหารสหรัฐ มีการนำยากันยุงมาใช้เพื่อช่วยป้องกันโรคที่ติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้เลือดออก Lyme disease ยากันยุงออกฤทธิ์รบกวนกลไกการรับรู้กลิ่น เป็นสารป้องกันยุงกัดที่มีกลิ่นที่ยุงไม่ชอบ ทำให้ยุงไม่เข้ามาใกล้ ยากันยุงที่ดีต้องไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่มีสีไม่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง ล้างออกได้ง่ายไม่เหนอะหนะ ไม่เปื้อนเสื้อผ้า และที่สำคัญ คือ ไม่ตกค้าง ส่วนประกอบในสารกันยุงมีทั้งเป็นสารที่สกัดจากพืช สมุนไพรหรือน้ำมันหอมระเหย อาทิ เช่น ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ขมิ้น ส้ม และยากันยุงที่มีส่วนผสมเป็นสารสังเคราะห์ เช่น DEET, picaridin, dimethyl phalate

DEET คืออะไร
DEET (N,N - diethyl - meta - toluamide)

               เป็นส่วนผสมที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงที่มีส่วนผสมของ DEET จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดได้ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงถึง 10 ชั่วโมง แตกต่างกันขึ้นกับความเข้มข้นของ DEET ในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี ไม่แนะนำให้ใช้ความเข้มข้นของ DEET มากกว่าร้อยละ 10

  ยาจุดกันยุง
ข้อแตกต่างของยาจุดกันยุงและยากันยุง คือ ยาจุดกันยุงสามารถป้องกันและกำจัดยุง ส่วนยาทากันยุงส่วนใหญ่จะใช้เน้นที่การป้องกันยุง ยาจุดกันยุงเมื่อจุดจะมีสารระเหยออกมาจะมีคุณสมบัติในการขับไล่ยุงหรือกำจัดยุง มี 2 ประเภท คือ แบบแท่งและแบบขด  มีทั้งแบบที่ทำจากสมุนไพรล้วนๆ เช่น ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ขมิ้นชัน ใบสาบเสือ ใบสะเดา ใบเสม็ดขาวมะกรูด และแบบที่มีสมุนไพรและสารเคมี เป็นสารเคมีที่นิยมนำมาใช้ในยาจุดกันยุง คือ สารไพรีทรอยด์ สารจะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาท ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุดการใช้ยาจุดกันยุงหากใช้ในขนาดและวิธีการที่ปกติ จะไม่เกิดอันตราย ควรวางไว้เหนือจุดที่ต้องการไล่ยุง ไม่ควรจุดยากันยุงในห้องที่อับหรือไม่มีอากาศถ่ายเท ควรเก็บยากันยุงในที่แห้ง ให้พ้นมือเด็ก

  ในทารกและเด็กเล็กใช้ยากันยุงได้หรือไม่
ทุกครั้งก่อนเลือกซื้อยากันยุง ควรอ่านฉลากทุกครั้ง มีการรับรองคุณภาพ มีวันหมดอายุชัดเจน
•  หากผลิตภัณฑ์ไล่ยุงมีส่วนผสมของสารเคมี บนฉลากต้องระบุเลขทะเบียน อย. วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย.หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตะไคร้หอม บนฉลากต้องระบุเลขที่รับแจ้ง
•  ไม่ควรใช้ยากันยุงในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
• ถึงแม้จะไม่มีรายงานความเป็นพิษของยากันยุงที่มีส่วนผสมของ DEET ในสัตว์ทดลอง การใช้ยาในเด็กเล็กไม่ควรใช้บริเวณรอบดวงตาหรือปาก ไม่ควรทายาบริเวณที่มีแผลหรือมีผื่นคัน
•  การใช้ยากันยุงในเด็กเล็กควรให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ทายาให้ ไม่ควรทายากันยุงบนมือเด็ก เนื่องจากเด็กอาจเอามือเข้าปาก หลังทายากันยุงควรล้างมือก่อนที่จะไปหยิบจับอาหาร

 
  ประสิทธิภาพในการกันยุงจะแตกต่างกันในแต่ละคน

ขึ้นอยู่กับประมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออกมา สารเคมีในเหงื่อที่จะดึงดูดให้ยุงกัดอุณหภูมิ physical activity หรือกิจกรรมของแต่ละคน สภาวะแวดล้อม ซึ่งยากันยุงที่มีส่วนผสมของสารสังเคราะห์จะกันยุงได้นานกว่าสารจากธรรมชาติ การใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงที่ไม่ได้มาตรฐาน ใช้ผิดวิธี เช่น จุดยากันยุงในที่แคบและอากาศไม่ถ่ายเทต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ชัก และหมดสติ หากเข้าตาจะเกิดอาการระคายเคือง อาจทำให้เกิดอาการแพ้ มีผื่นคัน ซึ่งหากมีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์

               นอกจากการใช้ยาทากันยุง ยาจุดกันยุง การป้องกันยุงกัดยังมีอีกหลายวิธี เช่น สวมเสื้อสีอ่อนแขนยาว ขายาว กางมุ้ง หลีกเลี่ยงการไปในที่มีต้นไม้เยอะๆ เนื่องจากอาจเป็นที่อยู่อาศัยของยุง การแปะสติกเกอร์กันยุง สายรัดข้อมือกันยุง การใช้ยากันยุงไฟฟ้า เครื่องดักยุง คุณแม่ที่มีลูกเล็กหากมีข้อสงสัยถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ สามารถขอคำแนะนำจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือสอบถามเพิ่มเติมจากกุมารแพทย์และเภสัชกรนะคะ
 
 
3 วิธีหยุดอาการคัน เมื่อเจ้าจอมซนถูกแมลงกัดต่อย

เมื่อเจ้าจอมซนถูกแมลงกัดจนอดไม่ได้ที่จะเกา ไม่ว่าคุณจะเตือนให้เขาหยุดเกาอย่างไรก็ไม่เป็นผล อย่างกระนั้นเลยค่ะ เพื่อป้องกันลูกน้อยของคุณเกาจนเลือดออก และกลายเป็นแผลติดเชื้อไป มาหาวิธีหยุดอาการคันให้กับเขาแทนการเตือนเพียงอย่างเดียว ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับในการบรรเทาอาการคันให้กับลูกน้อยของคุณค่ะ

1. ในกรณีที่ถูกยุง หรือมดกัด และลูกน้อยของคุณมีอาการคันไปทั้งตัวให้จับเขาไปอาบน้ำเสียเลย โดยอาบน้ำให้เขาด้วยน้ำอุ่นประมาณห้านาที จากนั้นใช้น้ำเย็นราดอีกครั้งก่อนพาเขาไปเช็ดตัว รับรองว่าอาการคันหายไปเป็นปลิดทิ้ง

2. กรณีรอยกัดมีเพียงแค่จุด หรือสองจุด ให้ใช้สก็อตเทปแปะไปบนผิวบริเวณที่ถูกกัด นอกจากจะหยุดอาการคันได้แล้วยังช่วยป้องกันเขาเอามือไปจับ ไปลูบได้อีกด้วยค่ะ

3. ใช้สบู่ก้อน (จะแห้งหรือเปียกก็ได้) ถูกไปบริเวณที่ถูกกัดจนผิวบริเวณนั้นถูกเคลือบด้วยเนื้อสบู่ ทิ้งไว้สักครู่แล้วล้างออก อาการคันจะหายเป็นปลิดทิ้งเช่นกัน


ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่บรรดาคุณแม่ผู้มีประสบการณ์เคยทดลองใช้แล้วได้ผลจึงบอกเล่าสู่กันฟังค่ะ ลองนำไปใช้ดูนะคะ ถนัดวิธีไหนก็เลือกใช้เอาตามสะดวกเลย
 
เรื่อง พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้