Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
Brain-based learning
คือทฤษฎีในการพัฒนาการเรียนรู้ของลูกน้อย ตามโครงสร้าง และลักษณะการทำงานของสมอง ซึ่งมีความแตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน ทฤษฎีที่ว่านี้เป็นการเปิดโลกลี้ลับของสมองครั้งยิ่งใหญ่ ของบรรดานักประสาทวิทยา และนักจิตวิทยา ซึ่งค้นพบว่าแม้สมองจะมีการแบ่งส่วนหน้าที่ในการทำงานกันอย่างชัดเจน แต่การทำงานของสมองแต่ละส่วนก็มีการประสานร่วมกันเป็นกระบวนการ สมองสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ พร้อมกันได้จากการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ประสบการณ์การเรียนรู้จากการใช้ประสาทรับรู้นับตั้งแต่แรกเกิด ร่วมกับลักษณะโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาแล้วตอนต้นจากพันธุกรรม ทำให้สมองมีลักษณะที่แตกต่างกัน
จุดเริ่มที่ต่างสร้างสมองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
พันธุกรรมจากพ่อแม่ จะร่วมกันกำหนดโครงสร้างพื้นฐานของสมองส่วนหนึ่งไว้ 30% ส่วนที่เหลืออีก 70% การเลี้ยงดู ประสบการณ์จากการใช้ชีวิต และการจัดการศึกษาจะเป็นตัวกำหนดพัฒนาการโครงสร้างของสมอง ด้วยเหตุนี้ สมองจึงมีโครงสร้างที่แตกต่างกันตามลำดับพัฒนาการ ดังนี้
1. พันธุกรรมในสัดส่วนที่ต่าง แม้จะได้รับพันธุกรรมจากพ่อแม่คนเดียวกัน แต่สัดส่วนยีนส์ที่แตกต่างกัน ก็ทำให้สมองมีลักษณะโครงสร้างพื้นฐาน 30% ที่แตกต่างกันแล้ว
2. ต่างรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ ลักษณะโครงสร้างพื้นฐานของสมองที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กแต่ละคนชอบ หรือเลือกที่จะเรียนรู้ มีปฏิกิริยา และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัวแตกต่างกัน ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นพี่น้องที่ได้รับการเลี้ยงดูอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมือนกัน เด็กก็ยังได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกันจากปฏิกิริยา การปฏิสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน
3. ต่างสังคมแวดล้อม ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ได้จากการปฏิสัมพันธ์กับสังคมนอกบ้าน เช่น เพื่อน ครู ในเวลา และสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้สมองของสองพี่น้องมีพัฒนาการที่ต่างออกไปจากกันอีก
4. ต่างรูปแบบการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนรู้ที่ได้รับจากคุณแม่ในบ้าน รวมถึงระบบการศึกษาที่ได้รับ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนสร้างความต่างให้กับสมองของเด็กแต่ละคน
สมองที่ต่างสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่ต่าง
แม้สมองจะมีโครงสร้าง และลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน แต่โดยภาพรวมแล้ว สมองมีโครงสร้างการทำงานที่สามารถจำแนกได้ออกเป็น 3 ลักษณะ ทำให้เด็กแต่ละคนมีวิธีในการรับรู้ และความถนัดในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน 3 แบบ คือ
เรียนรู้ได้ดีผ่านการมองเห็น (Visual) มีความเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ดีขึ้น เมื่อได้เห็นภาพประกอบ ไม่ว่าจะเป็นจากการสาธิต หรือการเห็นภาพรวมจากโครงสร้างแผนภาพ ประกอบคำอธิบาย
เรียนรู้ได้ดีผ่านการฟัง (Auditory) มีความเข้าใจได้ดี หากได้มีการพูดคุย ซักถาม คิด และตอบโต้ในสิ่งที่กำลังเรียนรู้
เรียนรู้ได้ดีผ่านการปฏิบัติ (Kinetic) ถ้าได้ลงมือทำ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงภาพ และความหมาย จนมีความเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ดีขึ้น
เคล็ดลับพัฒนาการเรียนรู้ของลูกรักตามวิธี Brain-based learning
Visual - ตุ๊กตา หรือของใช้ที่เป็นสีดำสลับขาว หรือสีเข้มตัดอ่อนจะช่วยเสริมพัฒนาการทางสายตาให้ลูกน้อยวัยแรกเกิด ถึงสามเดือน
Auditory - บทเพลงที่ย้ำคำเรียกชื่อสิ่งของต่างๆ จะช่วยให้เจ้าหนูเรียนรู้คำศัพท์ได้ดีขึ้น เช่น นี่คือ.. หู นี่คือ.. ตา นี่คือ.. จมูก
Kinetic - Baby signs หรือการใช้ท่าทางในการสื่อสารกับลูกน้อย ไม่เพียงช่วยให้คุณแม่สื่อสารกับลูกได้เท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหนูมีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการสมองด้วย
การส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ตามแบบวิธีของทฤษฎี Brain-based learning
มีส่วนสัมพันธ์ที่ช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการครบถ้วน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าสมองมีการทำงานพร้อมกันหลายส่วน การเรียนรู้ตามแบบวิธี Brain-based learning จึงเน้นกระตุ้นให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย จากสื่อหลายๆ ด้าน และการลงมือสัมผัสจากประสบการณ์จริง โดยเน้นให้เด็กมีความสุขจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ เช่น การร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี เต้นรำ วาดภาพ ระบายสี เล่นเกม พูดคุย ฟังนิทาน สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อร่างกาย จิตใจ และสมองของเด็กโดยตรง
10 ต.ค. 2566
20 ก.พ. 2566
23 ส.ค. 2567