อาการเบื่ออาหาร นี่มันยังไงนะ?

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

เชื่อว่าทุกบ้านจะต้องเคยเกิดปัญหาลูกเบื่ออาหาร...

คุณพ่อคุณแม่คงต้องรู้สึกเป็นกังวลอย่างแน่นอน แหม! ก็เจ้าหนูวัยนี้ กำลังเริ่มต้นเรียนรู้วิชาการในรั้วโรงเรียนนี่นา.. จู่ๆ เกิดเบื่ออาหารขึ้นมา ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ แล้วสมองของเจ้าหนูจะมีเรี่ยวแรงมาซึมซับรับเอาความรู้ไปเก็บไว้ต่อยอดในวันหน้าได้อย่างไรกัน

และถ้าหากคุณแม่นำเอาเรื่องหนักใจนี้ ไปเล่าให้คุณหมอฟัง ก็จะได้รับคำแนะนำให้กลับมาดูแลในด้านจิตวิทยาเป็นส่วนใหญ่ นั่นเพราะคุณหมอมองว่า เรื่องการเบื่ออาหารของเด็กเล็ก (ไม่เกิน 8 ขวบ) มักมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านอารมณ์นั่นเอง

"เด็กเบื่อความซ้ำซากจำเจของรสชาติและหน้าตาอาหาร"

"ต้องการประท้วงคุณแม่ที่เคี่ยวเข็ญให้กินผัก"

"อาหารที่ตัวเองไม่ชอบ"

"ติดนิสัยกินขนมจุกจิกตลอดวัน จึงไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงเวลาอาหาร"

"หรือแม้แต่ไม่ได้ถูกฝึกวินัยในการกิน จนเคยชินกับการกินอาหารไปด้วยทำกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วย"

สาเหตุเหล่านี้ ถือเป็นปัจจัยทางด้านอารมณ์ทั้งสิ้นค่ะ คุณแม่จึงต้องแก้ไขด้วยการงัดเอาหลักจิตวิทยามาใช้กระตุ้นให้เจ้าหนูเกิดอยากอาหารขึ้นมาให้ได้ ซึ่งก็ต้องว่ากันไปตามอาการล่ะค่ะ

เบื่ออาหาร.. เพราะหนูรู้มากไง
ความจริงแล้ว อาการเบื่ออาหาร เกิดขึ้นได้กับเด็กตั้งแต่ช่วงวัย 1-6 ขวบ แต่สาเหตุที่ทำให้อาการเบื่ออาหาร กลายเป็นปัญหาหนักสำหรับเด็กช่วงวัย 5-6 ขวบ นั้นก็เพราะ เด็กในช่วงวัยนี้ มีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ มากขึ้น มีกิจกรรมท้าทายความสามารถของเขามากมาย และมีสมาธิหยุดนิ่งกับสิ่งที่ตัวเองสนใจได้นานขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ดึงความสนใจของเขาไปจากอาหารมื้อหลักนั่นเอง

ลองพิจาณา 2 สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กวัยเรียนมีอาการเบื่ออาหารมากกว่าวัยเตาะแตะดูนะคะ
สาเหตุที่ 1 : ความเข้าใจที่มากขึ้น ทำให้เจ้าหนูรู้จักร้องขอขนมกินจากคุณได้ตลอดทั้งวัน ขณะที่เด็กวัยเตาะแตะสนใจแต่การเล่น และจะร้องขอของกิน ก็แต่เฉพาะอาหารเมื่อรู้สึกหิวเท่านั้น
สาเหตุที่ 2 : ความสามารถที่มีมากขึ้น ตามพัฒนาการทางด้านร่างกายที่มีมากขึ้น ทำให้เขามีกิจกรรมท้าทายมากมายยั่วยวนชวนให้เขาทุ่มเทความสนใจ และใช้สมาธิมุ่งมั่นอยู่กับกิจกรรมนั้น จนรู้สึกไม่อยากอาหารไปโดยปริยาย ขณะที่เจ้าหนูวัยเตาะแตะ ยังมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นไม่นานนัก ซึ่งทำให้ปฏิกิริยาตอบสนองตามสัญชาตญาณมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเจ้าหนูให้รู้สึกหิวขึ้นมา เมื่อร่างกายต้องการ

  การเลี้ยงดูของแม่ก็มีส่วนนะ
นอกจากปัจจัยทางด้านอารมณ์แล้ว อาการเบื่ออาหารของลูกน้อย ยังมีสาเหตุมาจากสุขภาพภายในร่างกายของเขาเองอีกด้วยค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่สืบเนื่องมาจากระบบการย่อยอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก

ปัญหาทั้งสองอาจส่งผลต่อเนื่องให้กลายมาเป็นปัญหาเบื่ออาหารของเด็กวัยเรียนได้ โดยผลจากการเลี้ยงดู และการดูแลด้านโภชนาการของคุณแม่เอง ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างระบบโภชนาการให้กับเด็กตั้งแต่เล็ก จนเขาติดเป็นนิสัยเมื่อโตขึ้น โดยปกติแล้วการดูแลด้านโภชนาการ ที่สอดคล้องกับพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับระบบการย่อย และการดูดซึมอาหารของเด็ก จะทำให้เด็กมีระบบโภชนาการที่ดีตั้งแต่เล็ก ซึ่งคุณแม่ต้องมีความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการย่อย และการดูดซึมอาหารด้วย

 ระบบการย่อยอาหารของเด็กเล็ก

ช่วงขณะที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ โอกาสที่เด็กจะเกิดอาการแพ้จากอาหารบางชนิดมีสูงมาก ดังนั้น ทุกครั้งที่คุณแม่ให้ลูกน้อยได้รับอาหารชนิดใหม่ควรให้ทีละอย่าง ในปริมาณน้อยๆ ก่อน เพื่อทดสอบดูว่าลูกมีอาการแพ้หรือไม่ เมื่อแน่ใจดีแล้วว่า เขาไม่มีอาการแพ้ จึงค่อยเพิ่มปริมาณมากขึ้น หรือเปลี่ยนไปทดสอบอาหารชนิดใหม่ต่อไป

อาหารที่ทำให้เด็กเกิดอาการแพ้ จะส่งผลต่อเด็กใน 2 ด้าน คือหนึ่งส่งผลโดยตรงต่อจิตใต้สำนึกของเด็ก ทำให้เกิดอคติกับอาหารชนิดนั้น ๆ และร่างกายหลั่งสารเคมีเพื่อต่อต้านอาหารชนิดนั้นๆ โดยแสดงอาการข้างเคียงออกมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้ง 2 กรณี จะส่งผลเสริมซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กปฏิเสธอาหารชนิดนั้น และขณะที่ระบบภูมิคุ้มบกพร่อง ทำให้เด็กมีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ ซึ่งก็จะส่งผลต่อระบบการย่อยอาหาร ทำให้เด็กมีอาการเบื่ออาหารได้ด้วยเช่นกัน


นอกจากนี้การฝึกให้เด็กได้ลิ้มลองรสชาติอาหารหลากหลายชนิด

จะทำให้เขาเกิดความคุ้นเคย และไม่ติดนิสัยเลือกกินแต่เฉพาะอาหารที่ชอบเท่านั้น และยังส่งผลให้การทำงานของระบบการย่อยอาหารมีความคุ้นเคยกับลักษณะที่หลากหลายของอาหารแต่ประเภทอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้