Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
หลังจากผ่านสามเดือนแรกของการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมาแล้ว คุณกับลูกน้อยคงเป็นคู่หูที่รู้ใจกันพอควรแล้วล่ะ ในแต่ละวันที่เจ้าหนูสัมผัสได้ถึงความรัก ความใส่ใจ ที่คุณมอบให้ผ่านการดูแลเขา ทำให้เขามั่นใจว่าในโลกกว้างใหญ่ใบนี้ เขาจะมีคุณอยู่ข้างๆ คอยระวังภัยให้ ความไว้วางใจที่เขามีให้กับคุณ ช่วยเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ให้กับเขา
คราวนี้ล่ะ! คุณจะได้เจอศึกใหม่ จากการผจญภัยของเจ้าหนูนักทดลอง
หนูทำได้แล้ว! ตอนนี้เจ้าหนูของคุณเริ่มควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายของเขาได้แล้ว ทุกครั้งที่ทำได้ เขาจะมีกำลังใจ และรู้สึกสนุกกับการทดลองทำบ่อยๆ ถ้าคุณวางสิ่งใดไว้ใกล้ตัวเขา เจ้าหนูจะไม่รอช้ารีบใช้สองมือคว้าเอามาสำรวจ ใช้สองตาจดๆ จ้องๆ แล้วก็เอาเข้าปากเพื่อใช้ลิ้นลิ้มรส และสัมผัสสิ่งของนั้นอย่างเพลิดเพลิน โดยจะเหลือบสายตามองคุณเป็นพักๆ เพื่อดูว่าคุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการกระทำของเขา
เจ้าหนูนักทดลอง.. จะรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับการคอยดูผลจากการกระทำของตัวเอง ทุกครั้งที่คุณมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระทำของเขา นั่นคือการกระตุ้นให้เขาทำอีกครั้ง และอีกครั้ง เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อ ถ้าคุณอยากให้เขาหยุด ดึงเขาออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้น แค่นี้ก็หยุดเขาได้แล้ว แต่นั่นเป็นเพียงแค่หยุดจากสถานการณ์หนึ่ง มาสู่การเรียนรู้ในสถานการณ์ใหม่ที่คุณนำพาเขามาสัมผัส แหม! ก็เขากำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็นนี่นา ทนเหนื่อยหน่อยแล้วกันนะคะ
ให้หนูช่วยตัวเองเถอะนะแม่ การได้ทดลองทำสิ่งใดบ่อยๆ ครั้ง ไม่เพียงช่วยให้ลูกน้อยของคุณได้ฝึกฝนทักษะการเคลื่อนไหว และพัฒนาการกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างเสริมการเรียนรู้กระบวนการสิ่งต่างๆ รอบตัวเขาอีกด้วย ดังนั้น ถ้าเขาอยากจะทำอะไรด้วยตัวเอง ปล่อยให้เขาได้ทำบ้าง แม้จะเลอะเทอะสักหน่อย แต่เมื่อโตขึ้น เขาจะเป็นเด็ก can do ที่ชอบริเริ่มทำอะไรด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเอง มันน่าภาคภูมิใจใช่ไหมล่ะคะ
เจื้อยแจ้ว ..ใช่แค่เรื่อยเปื่อย แต่ละเสียงที่เจ้าหนูเปล่งออกมา คือจุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางด้านภาษา ยิ่งคุณโต้ตอบกับเขา ยิ่งทำให้เขาเกิดความมั่นใจ และกระตือรือร้นอยากทดลองพูดมากยิ่งขึ้น
หนูก็มีรสนิยมนะ เห็นตัวแค่เนี้ย เจ้าหนูก็รู้จักเลือกแล้วนะ เมื่อเข้าสู่เดือนที่สี่ เจ้าหนูเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากพอจะแสดงความรู้สึกชอบ หรือไม่ชอบสิ่งใดแล้ว ลองสังเกตดูซิ.. แล้วเปิดโอกาสให้เขาได้เป็นผู้เลือกสิ่งต่างๆ ให้กับตัวเองบ้าง
หนึ่งมือที่คว้าไว้ แม้ในวัยสี่เดือน เขาจะยังใช้นิ้วหัวแม่โป้งไม่เป็น แต่เจ้าหนูก็เริ่มรู้จักเปลี่ยนวิธีการ จากที่เคยใช้สองมือโอบพยุงสิ่งของที่ต้องการจับต้อง มาใช้มือเดียวหยิบจับแทนได้แล้ว ทำยังไงน่ะเหรออ ก็ใช้นิ้วมือทั้งหมดกดทับสิ่งของนั้นให้แนบแน่นไว้กับฝ่ามือน่ะซิ นี่ล่ะพัฒนาการอีกขั้นที่คุณจะได้เห็นในเร็ววัน
29 ก.ย. 2566
10 ต.ค. 2566