Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
คุณแม่ที่มีลูกกำลังอยู่ในช่วงวัย 1-3 ขวบ มักจะพบว่า ระยะหลังๆนี้ เจ้าตัวน้อยของคุณ กลายเป็นเด็กช่างโวย ขี้โมโห ดื้อรั้น และเอาแต่ใจไปโดยไม่มีสาเหตุ แถมบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนคุณแม่เป็นห่วง เกรงว่าลูกน้อยจะโตขึ้นไปเป็นคนเจ้าอารมณ์ และมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้
ไม่ต้องกังวลไปค่ะ.. พฤติกรรมอาละวาด เป็นเพียงช่วงหนึ่งของพัฒนาการทางด้านอารมณ์ ที่เกิดขึ้นกับเด็กทุกคนในช่วงวัยนี้ มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการดูแลตั้งแต่เล็กของคุณแม่นั่นเอง
ลองนึกดูว่า ขณะที่คุณกำลังสนด้ายเข้ารูเข็ม เพื่อใช้เย็บซ่อมตะเข็บชุดทำงานที่ขาด ไม่ว่าจะทำยังไงก็สนไม่เข้าซักที คุณจะรู้สึกยังไง.. แน่นอน เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะคุณจะรู้สึกหงุดหงิด เผลอๆ อาจหัวเสียใส่ใครก็ตามที่เข้าใกล้ในชั่วขณะนี้ได้ด้วยซ้ำไป แล้วจำได้ไหมค่ะว่า.. เวลาที่ตัวเอง หงุดหงิดอารมณ์เสียแล้ว มันยากแค่ไหนที่จะสงบอารมณ์ของตัวเองได้? เด็กตัวน้อยเองก็เช่นกันค่ะ ต่างกันแต่ว่า เจ้าหนูยังขาดประสบการณ์ในการควบคุมอารมณ์รุนแรงนี้นั่นเอง
แม่รู้ไหม? ..ทำไมหนูถึงต้องอาละวาด
พฤติกรรมอาละวาดจะเกิดขึ้นมากในเด็กช่วงวัย 1-3 ขวบ นั่นเพราะเด็กวัยเตาะแตะกำลังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้อย่างหนัก เขาพยายามหาวิธีจัดการกับชีวิตตัวเองเพื่อให้สามารถอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกับบุคคลรอบข้างให้ได้อย่างลงตัว แต่เพราะร่างกายที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เขาไม่สามารถทำอะไรได้ดั่งใจปรารถนา อีกทั้งพัฒนาการทางด้านภาษาก็ยังไม่มากพอที่จะสื่อให้คุณแม่เข้าใจถึงความรู้สึกที่คุกรุ่นอยู่ภายใน จึงทำให้เจ้าหนูต้องใช้วิธีการร้องอาละวาด ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่เขาสามารถทำได้ในตอนนี้ เพื่อใช้สื่อให้คุณแม่ได้รับรู้ถึงความผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ภายในตัวเขา
โดยปกติแล้ว ปัจจัยที่เป็นเหตุกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมอาละวาดในเด็กวัยนี้ มีอยู่ด้วยกันหลายประการ แตกต่างกันตามช่วงอายุของตัวเด็กเอง นั่นคือ
ในช่วงวัย 1 ขวบ
พฤติกรรมอาละวาดมักมีสาเหตุมาจากความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองมีจำกัด เนื่องจากพัฒนาการทางร่างกายที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อเขารู้สึกเหงา ต้องการความรัก ความเอาใจใส่ หรือรู้สึกเบื่อ หิว หรือแม้แต่รู้สึกอึดอัดไม่สบาย เจ้าหนูยังขาดทักษะที่จะจัดการกับความรู้สึก และความต้องการเหล่านี้ แต่เขารู้ดีว่า แม่คือคนที่จะช่วยเหลือเขาได้ ดังนั้น เขาจึงต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อส่งสัญญาณให้แม่รู้ ซึ่งนั่นก็คือ พฤติกรรมอาละวาด
ถ้าคุณแม่เข้าใจ และสามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม พัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเจ้าหนูก็จะพัฒนาขึ้น แต่ถ้าคุณแม่ไม่เข้าใจ และใช้วิธีทำโทษเพื่อหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นแทน เจ้าหนูอาจจดจำ และหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวไว้ชั่วคราว ตราบจนเมื่อความอัดอั้นที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ภายในถูกกระตุ้นอีกครั้ง คราวนี้ พฤติกรรมก้าวร้าวจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือเจ้าหนู ก็ไม่ใช่การตอบสนองให้เขาได้ ในทุกครั้งที่เขาแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้ เพราะจะเป็นการสร้างนิสัยขี้โมโห โวยวาย และเอาแต่ใจให้กับเขาไปโดยไม่รู้ตัว เจ้าหนูจะเกิดการเรียนรู้โดยอัตโนมัติว่า ทุกครั้งที่เขาแสดงฤทธิ์เดชด้วยการอาละวาดออกไป เขาจะได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการเสมอ และจะทำให้พฤติกรรมอาละวาด เอาแต่ใจพัฒนาความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
เมื่อก้าวเข้าสู่วัย 2 ขวบ
โดยปกติแล้ว พฤติกรรมอาละวาดจะรุนแรงขึ้น เมื่อเจ้าหนูก้าวเข้าสู่วัย 2 ขวบ นั่นเพราะ เด็กวัยนี้ มีพัฒนาการการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น เขามีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ มากเกินกว่าจะถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด เจ้าหนูต้องการอิสรภาพที่จะจัดการสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง อยากทดลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยตัวเอง
ความสามารถที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการความเป็นอิสระ ทำให้พฤติกรรมอาละวาดรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงวัย 2 ขวบ แต่เมื่อเจ้าหนูเริ่มมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่มากขึ้น พฤติกรรมนี้ ก็จะค่อยๆ หายไป อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับว่า คุณแม่ได้ให้การดูแลพัฒนาการช่วงนี้ของเจ้าหนูดีแค่ไหน นั่นคือ นอกเหนือจากความเข้าใจ และให้การตอบสนองความต้องการของลูกน้อยอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ต้องดูแลเรื่องพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเจ้าหนูอีกด้วย ถือโอกาสสอนให้เขารู้จักควบคุมอารมณ์ หาโอกาสให้เขาได้รู้จักกับความผิดหวัง และเรียนรู้วิธีจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ด้วยตัวเอง จะทำให้เขาคุ้นเคย และรู้ว่า เขาอาจไม่สามารถได้ในทุกสิ่งที่ต้องการเสมอไป แต่การรู้จักประเมินตนเอง ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ ให้สอดคล้องกับความสามารถของตน รู้จักวางแผน และลงมือทำอย่างตั้งใจ เขาก็จะมีโอกาสสมหวังในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้
10 ต.ค. 2566
23 ส.ค. 2567
20 ก.พ. 2566