Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
เมื่อคุณสงสัยว่าลูกน้อยอาจมีอาการแพ้นมวัว อย่ารอช้ากลัวว่าคุณหมอจะมองคุณเป็นกระต่ายตื่นตูม โดยเด็ดขาด เพราะอาการแพ้อาจรุนแรงถึงขั้นอันตรายได้ ดังนั้น หากพบว่าเจ้าตัวน้อยมีอาการคล้ายๆ ก็ควรรีบพาไปพบคุณหมอในทันที
ในขั้นตอนแรก คุณหมอจะทำการซักประวัติคุณก่อนว่า ตัวคุณเอง พ่อของเด็ก หรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัวมีใครเคยมีประวัติแพ้นม หรือแพ้อาหารชนิดใดมาก่อนหรือเปล่า
จากนั้น จึงเริ่มซักถามเรื่องอาหารการกินของเจ้าหนูในช่วงระยะที่ผ่านมา รวมทั้งอาการต่างๆ ในจังหวะนี้ล่ะสำคัญมาก หากคุณใส่ใจเฝ้าสังเกตอาการการเปลี่ยนแปลงของลูกน้อยมาตลอด ก็จะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำได้มากขึ้น
หลังการสอบถามข้อมูลจำเป็นเบื้องต้นแล้ว คุณหมอจะเริ่มทำการทดสอบอาการแพ้นมวัวให้ลูกน้อยของคุณ ซึ่งอาจใช้การทดสอบหลายขั้นตอนสักหน่อย เพื่อผลที่แน่ชัดนั่นเอง โดยจะแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ดังนี้ ค่ะ
กรณีในครอบครัวไม่มีประวัติอาการแพ้รุนแรง หรือ anaphylaxis คุณหมอจะทำการทดสอบด้วยวิธี skin test ก่อนโดยใช้โปรตีนที่จะทดสอบละลายให้มีความเข้มข้นเป็น 1:10 หรือ 1:20 (น้ำหนักต่อปริมาตร) หยดลงบนผิวหนังด้านท้องแขน หรือแผ่นหลังแล้วสะกิดด้วยปลายเข็ม แล้วรอผลภายใน 15-20 นาที หากพบว่าผิวหนังบริเวณนั้นมีผื่นแดง หรือเป็นนูนแดงขนาดใหญ่ขึ้นมา แสดงว่าเด็กมีอาการแพ้รุนแรง แต่หากทดสอบแล้วมีเพียงผื่นขึ้นเล็กน้อย คุณหมอจะทำการทดสอบอาหารชนิดอื่นต่อไป
เมื่อผลออกมาว่าเด็กมีอาการแพ้นมวัว คุณหมอจะงดให้การทดสอบ และเฝ้าระวังเพื่อรักษาอาการแพ้ต่างๆ ที่จะเกิดตามมา รวมทั้งสั่งงดให้เด็กหยุดรับประทานนมวัวต่อเนื่องนาน 12 เดือน แล้วจึงทำการทดสอบอีกครั้ง
กรณีในครอบครัวมีประวัติแพ้รุนแรง หรือ anaphylaxis ก่อนการทดสอบ คุณหมอจะเตรียมการรักษาไว้ด้วย โดยใน 60 นาทีแรก หลังการทดสอบ จะมีพยาบาลคอยดูแล และดูอาการข้างเคียง เช่น ผื่นรอบปาก ผื่นลมพิษ จาม อาเจียน หงุดหงิด ซีด หอบ ไอ ถ่ายเหลว หายใจดัง และหมดสติ หากพบว่ามีอาการ คุณหมอจะให้ยาเพื่อการรักษาในทันที
แต่หากใน 60 นาที ไม่มีอาการแพ้จากการทำ skin test คุณหมอจะทำการทดสอบต่อ โดยการหยดนมวัวหนึ่งหยด ปริมาณน้อยกว่า 3 มล. ลงบนลิ้น แล้วดูเยื่อบุปากว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร พร้อมทั้งเฝ้าดูอาการข้างเคียงอื่นๆ ภายใน 15 นาที ถ้าไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จะทำการหยดนมวัวซ้ำ โดยเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 30 มล. หากไม่พบปฏิกิริยาใดๆ จึงอนุญาตให้เด็กกินนมวัวได้ แต่ไม่ควรเกินวันละ 200 มล. ต่อวัน
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566