Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
พัฒนาการลูกในครรภ์
ผิวหนังของทารกถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นเดือน ขณะที่ชั้นไขมันยังไม่คืบหน้าไปเท่าไร เจ้าหนูของคุณจึงดูตัวเหี่ยวแห้งไปหน่อย กระดูกหูชั้นกลางเริ่มหนาตัวขึ้น เม็ดสีผิวของทารกเริ่มเรียงตัว เปลือกตาเริ่มเปิด ตอนนี้เจ้าตัวน้อยจะมีหน้าตาใกล้เคียงกับทารกน้อยที่เพิ่งคลอดออกมา เพียงแต่มีผิวที่บางมาก และตัวเล็กมากเท่านั้นเอง
แม้ว่าเจ้าตัวน้อยจะยังได้รับออกซิเจนผ่านรกอยู่ แต่ทันทีที่เขาคลอดออกมา ปอดของเขาจะรับช่วงทำหน้าที่ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนออกไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกภายนอกมดลูก ปอดของเจ้าหนูเริ่มผลิตสารเคมีชนิดหนึ่งขึ้นมา เพื่อช่วยรักษาให้ถุงอากาศ 2 ใบในปอดยังคงพองตัวอยู่ติดกัน เพื่อความสะดวกในการหายใจเข้าออก
ขณะที่เจ้าตัวน้อยเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สมองน้อยๆ ของเขาก็เริ่มงานตามหน้าที่แล้ว ระบบการฟังของเจ้าตัวน้อยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อไหมว่าเขาได้ยินแม้กระทั่งเสียงของคุณ และเสียงนี้เองที่เขารู้สึกคุ้นเคยและอบอุ่นทุกครั้งที่ได้ยินเมื่อคลอดออกมา (ซึ่งบางทีอาจรวมถึงเสียงพ่อของเขาด้วย)
การเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ
อาการไม่สบายตัวอันเกิดจากการตั้งครรภ์ จะเริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนนี้ มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นเริ่มไปกดทับลำไส้ใหญ่ ประกอบกับระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ช้าลง น้ำในอุจจาระถูกร่างกายดูดซึมดึงกลับไปใช้ใหม่จึงมีลักษณะแข็ง ถ่ายยาก นอกจากนี้เส้นเลือดที่ถูกกดทับก็มีผลให้คุณมีอาการเป็นตะคริวด้วยเช่นกัน และเมื่อมดลูกเคลื่อนตัวมาอยู่บริเวณซี่โครง จะเป็นผลให้คุณรู้สึกอึดอัดหายใจไม่สะดวกนัก
ปริมาณพลาสมา(ส่วนเหลวของเซลล์เม็ดเลือด) ในตัวคุณเพิ่มขึ้น ทำให้คุณมีโอกาสเกิดภาวะโลหิตจางได้ ภาวะโลหิตจาง อาจเป็นสาเหตุให้ร่างกายของคุณติดเชื้อได้ง่าย และยังเป็นสาเหตุของอาการกล้ามเนื้อหดตัว เนื่องจากเลือดส่งออกซิเจนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ถ้าคุณหมอตรวจพบอาการ จะให้ธาตุเหล็กชนิดเม็ดแก่คุณ เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่ไม่สามารถสะสมในร่างกายได้ แม้คุณจะกินอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กทุกวัน ก็ไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรค
รู้ไหมว่า: ธาตุเหล็กอาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้อาการท้องผูกรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น คุณควรบริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์ให้ได้ 20-30 กรัมต่อวันเพื่อช่วยลดอาการ ไฟเบอร์มีมากในผักผลไม้สด ขนมปังจากเมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี ซีเรียล นอกจากนี้การดื่มน้ำเยอะๆ ก็ช่วยได้มากเช่นกัน การกินอาหารเสริมไฟเบอร์ อาจส่งผลดีแต่คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนกิน
สารอาหารจำเป็น
คาร์โบไฮเดรต: 70% ของแคลอรีที่คุณได้รับจะถูกนำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตของสมองทารก ซึ่งจะมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะเร่งสปีดเร็วขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของเดือน พลังงานไม่เพียงจำเป็นต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์เท่านั้น แต่ยังให้พลังงานกับคุณ และยังช่วยแก้ปัญหาท้องผูกให้กับคุณได้อีกด้วย
แหล่งอาหารที่พบ: มีมากในข้าว มันฝรั่ง ขนมปังโฮลวีต
วิตามินเอ: แม้ว่าเจ้าหนูจะลืมตาได้แล้วในเดือนนี้ แต่สีนัยน์ตาของเขาจะพัฒนาต่อไปจนหลังคลอด 2-3 เดือน วิตามินเอ ร่วมกับโอเมก้าทรีจะช่วยพัฒนาระบบนัยน์ตาของทารก
แหล่งอาหารที่พบ: วิตามินเอที่เปลี่ยนรูปมาจากเบต้าแคโรทีน จะให้ประโยชน์ต่อพัฒนาการของทารกอย่างเต็มประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งคุณสามารถหากินได้จากแครอท ผักใบเขียวเหลือง เนย ฟักทอง
แคลเซียม: แม้กระดูกและฟันจะถูกสร้างขึ้นจนเกือบสมบูรณ์แล้ว แต่แคลเซียมก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการทารกอย่างต่อเนื่อง แคลเซียมช่วยควบคุมการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อในร่างกายของทารก ช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัว และรับส่งข้อมูลของระบบประสาท
แหล่งอาหารที่พบ: นม, โยเกิร์ต, ปลาซาร์ดีน หรือแซลมอน, ผักขม
วิตามินบี 6: ช่วยทำใหระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง และพัฒนาสมองของทารก ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ระบบการเผาผลาญของคุณดีขึ้นด้วย
แหล่งอาหารที่พบ: มีมากในผลไม้รสเปรี้ยวทุกชนิด, บรอคเคอลี, มะเขือเทศ
14 พ.ย. 2567
9 ต.ค. 2567