Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ภาพของเด็กน้อยยกมือขึ้นสุดแขนเพื่อส่งสัญญาณให้คุณครูหันมามอง ก่อนตอบคำถามด้วยเสียงแจ่วๆ ขณะที่เจ้าหนูอีกคนพูดจาแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างฉะฉาน หรือแม้กระทั่งภาพของเจ้าตัวเล็กที่ทำอะไรด้วยตัวเองได้อย่างมีความสุข ล้วนเป็นภาพที่ชัดเจนอยู่ในความปรารถนาของคนเป็นแม่ทุกคน แต่คุณแม่ทราบไหมว่า.. ก่อนที่เด็กเล็กๆ สักคนจะลุกขึ้นมาแสดงความกล้าเก่งอย่างมั่นใจท่ามกลางสายตาชื่นชมของคนรอบข้างนั้น เขาต้องผ่านกระบวนการใด หรือมีกลไกใดผลักดันให้เขาทำออกไปอย่างนั้นได้
เชื่อเถอะว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติกับเด็กทุกคนแน่นอน นั่นเพราะ โดยปกติแล้ว ธรรมชาติกำหนดให้มนุษย์ทุกคนมีความกลัวเป็นสัญชาติญาณไว้ใช้ในการป้องกันตัวจากอันตรายรอบข้าง (ไม่เชื่อลองดูสารคดีชีวิตของคนยุคดึกดำบรรพ์ซิ) ประสบการณ์ และการเรียนรู้ ทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น และรู้วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายรอบตัวได้โดยไม่พลาดโอกาสสัมผัสการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตอยู่รอดของตัวเองให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการนี้เรียกว่าเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้เชียวนะ
เด็กเล็กๆ ก็เหมือนกัน สมองส่วนที่ใช้ในการควบคุมปฏิกิริยาตอบสนองทันที หรือสัญชาติญาณในการป้องกันตัว เป็นส่วนที่มีพัฒนาการโดดเด่นในช่วงเริ่มต้นของชีวิต อุปนิสัยเขาจึงเปรียบเหมือนกับบรรพบุรุษของเราในสมัยก่อน ขี้กลัว และตกใจง่าย แม้เพียงเสียงดังของเครื่องใช้ในบ้าน แต่เมื่อเขาได้สัมผัส และทำความรู้จักกับสิ่งนั้น ความกลัวก็จะหายไป กลายเป็นความสนุกสนาน และความภาคภูมิใจที่ตัวเองสามารถควบคุมสิ่งที่เคยเป็นเหตุคุกคามความรู้สึกตัวเองได้
ถึงอย่างนั้น พฤติกรรมของลูกน้อยของคุณก็มีรายละเอียดที่ต่างไปจากพฤติกรรมของบรรพบุรุษอีก ตรงที่แม้สมองส่วนควบคุมสัญชาตญาณจะมีพัฒนาการโดดเด่นในช่วงแรก แต่พัฒนาการของสมองในส่วนอื่นๆ ก็กำลังเร่งสร้างฐานโครงข่ายของการเรียนรู้เช่นกัน เจ้าหนูจึงมีอุปนิสัยซุกซน อยากรู้อยากเห็นอยากลองไปเรื่อย โอกาสพลั้งพลาดได้รับอันตรายจากความกล้าอย่างไร้เดียงสาจึงเกิดขึ้นได้ง่าย และทันทีที่ร่างกายสัมผัสถึงอันตราย สมองจะจดจำและบันทึกไว้ให้ร่างกายพยายามห่างไกลจากสิ่งนั้นไว้ ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น ประสบการณ์เลวร้ายยังค่อยๆ ปล่อยความรู้สึกด้อยค่าให้ฝังรากลึกในความทรงจำ ทำให้สมองสั่งร่างกายให้นึกคิดไปว่าตัวเองไม่ใช่คนที่มีความสามารถจนไม่กล้าคิดริเริ่ม หรือทำสิ่งใด
ดูๆ ไปแล้วจะเรียกว่าพฤติกรรมกลัวๆ กล้าๆ ...กล้าๆ กลัวๆ ก็คงไม่ผิดนัก ปัญหาจึงตกหนักอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้เจ้าหนูกล้า.. ไม่ต้องกลัว เพื่อการเรียนรู้ที่ไม่ติดขัด
เส้นทาง.. สู่ความกล้า
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน คงต้องให้คุณแม่ย้อนกลับไปนึกถึงเมื่อสมัยตัวเองยังเป็นเด็ก จำสถานการณ์ลำบากที่ตัวเองรู้สึกกลัว หรือไม่กล้าที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้หรือเปล่า ตอนนั้นคุณทำอย่างไรถึงฟันฝ่ามาได้ ..จำความรู้สึกตอนที่ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ไหม?
...เป็นความรู้สึกหึกเหิมในใจ รู้สึกว่าตัวเองก็มีความสามารถ ถ้าอยากจะทำ และเกิดความรู้สึกอยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายใช่มั้ยเอ่ย
พัฒนาการทางความรู้สึกของเจ้าหนูก็ไม่พ้นไปจากวิสัยที่คุณเป็น ..ความรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเอง คือความมั่นใจที่จะเป็นบันไดทอดก้าวไปสู่ความกล้าเก่ง กล่าวกันให้ชัดก็คือ การดูแลให้ลูกน้อยของคุณได้สัมผัสกับความสำเร็จไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะค่อยๆ สะสมแต้มแห่งความมั่นใจ ซึ่งจะเป็นแรงผลักให้เขาเกิดความกล้าเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ นั่นเอง
พัฒนาสู่.. กล้าเก่ง
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับลักษณะเด่นของเด็กกล้าเก่งกันก่อนดีกว่า เจ้าหนู cando kid มักคิด และรู้สึกดีๆ กับตัวเอง เขาจะรู้ว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้ดี และมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมอย่างไร ความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างนี้ ทำให้เขาสามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ มีลักษณะการเป็นผู้นำ และมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มาทำให้คุณพ่อคุณแม่แอบปลื้มใจอยู่เสมอ
เจ้าหนูจะมองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ในขณะเดียวกันก็มีความฉลาดคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือจัดการกับสิ่งต่างๆ ได้ไม่ยากนัก เป็นมิตรกับทุกคน หัวเราะ และยิ้มง่าย
ลักษณะดีๆ อย่างนี้ของเด็กกล้าเก่ง คงทำให้คุณอยากจะให้มีอยู่ในตัวลูกน้อยของคุณบ้างใช่มั้ยล่ะ ไม่ยากเลย เด็กจะกล้าเก่ง จนพัฒนาเป็นเด็ก cando ที่สามารถไปซะทุกอย่างนั้น จะต้องได้รับการปลูกฝังให้มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองซะก่อน ซึ่งเจ้าความเชื่อมั่นนี้ จะมาพร้อมกับปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงพัฒนาการแต่ละวัยของเด็กนั่นเอง
เด็กเล็กๆ ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ เพื่อให้เขาเกิดความมั่นใจพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตกล้าเก่งด้วยตัวเอง ดังนั้น พฤติกรรม และทัศนคติของพ่อแม่จึงมีอิทธิพลต่อพัฒนาการความเชื่อมั่นของเจ้าหนูในวัยนี้อย่างมาก
ตราบจนเมื่อเจ้าหนูเติบโตขึ้น และเริ่มก้าวออกไปสู่สังคมภายนอก ประสบการณ์นอกบ้าน ทั้งจากที่โรงเรียน สนามใกล้บ้าน ล้วนมีอิทธิพลต่อการสร้างบุคลิกกล้าเก่งให้เขาทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จะหมดความหมายในการสร้างพัฒนาการกล้าเก่งของลูกไปเลย เพราะถ้าหากขาดการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณแล้ว ลูกน้อยก็เหมือนเรือที่ไร้หางเสือ เคว้งคว้างไปตามการลากจูงจากอิทธิพลรอบข้างในสังคมภายนอก
ฉะนั้น ไม่ว่าจะอย่างไร คุณก็ยังเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นเด็ก cando ที่กล้าเก่ง เพื่อชีวิตที่เก่งกล้าในอนาคต
แรงเสริมของความกล้า
อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านคงเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า เส้นทางความกล้าเก่งของลูกน้อยต้องอาศัยสองมือ กับอีกหนึ่งมันสมองของคุณแม่ที่ต้องคอยคิด และวางแผน เพื่อเตรียมความพร้อม และคอยสนับสนุนส่งเสริมเป็นระยะๆ ในแต่ละช่วงสำคัญของชีวิตเขา
เจ้าหนูจะกล้าเก่ง.. จนเก่งกล้าได้ ต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ/อารมณ์ และทักษะการเข้าสังคม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ร่างกายที่สมบูรณ์พร้อม ไม่มีอาการเจ็บป่วยคอยบั่นทอนพัฒนาการ และการเรียนรู้ จะเป็นแรงเสริมให้ลูกมีจิตใจ และอารมณ์ที่ดี ส่งผลให้สมองปลอดโปร่งมีพื้นที่สำหรับเก็บกักประสบการณ์ต่างๆ ไว้ในความทรงจำ และยังมีศักยภาพเพียงพอชักนำความจำเหล่านั้นมาร้อยต่อกับประสบการณ์ใหม่เพื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะที่ความสัมพันธ์ดีๆ กับสังคมรอบข้างจะเป็นแรงหนุนให้เขาได้รับประสบการณ์ที่ดีเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้
อาหาร.. จุดเริ่มของการเตรียมพร้อมในทุกด้าน
ถ้าหากร่างกาย คือจุดเริ่มต้นของวงจรพัฒนาการ และการเรียนรู้ อาหาร ก็เปรียบเหมือนแรงผลักให้จุดเริ่มมีแรงส่งให้กระแสวงจรการเรียนรู้ไหลเวียนไปได้ตลอดทั้งโครงสร้าง สารอาหารที่ร่างกายได้รับจะถูกดูดซึมไปใช้ในการหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายให้แข็งแรง กระปรี้กระเปร่า ขณะที่สมองก็เติบโตพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้
สารอาหารแต่ละชนิดจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกัน พร้อมๆ กับที่การเติบโตของเด็กในแต่ละช่วงวัยก็มีความต้องการประเภท และปริมาณของสารอาหารที่แตกต่างกันด้วย การดูแลให้เด็กได้รับสารอาหารตรงตามความต้องการในแต่ละช่วงวัย จะทำให้เขามีความพร้อมที่สมบูรณ์สำหรับการเรียนรู้ที่จะเป็นเด็ก can do
การเลี้ยงดูลูกน้อยสักคนให้เติบโตขึ้นมากล้าเก่งสมวัย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่แม่ต้องทุ่มเทอย่างเต็มกำลัง แต่ก็ใช่ว่าจะเกินความสามารถของคุณ เพราะสองมือแม่นั้น สร้างอนาคตให้กับลูกได้
20 ก.พ. 2566
23 ส.ค. 2567
10 ต.ค. 2566