สารอาหารจำเป็น.. เพื่อพัฒนาการวัยเตาะแตะ

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ช่วงวัย 1-3 ปี เป็นช่วงที่ลูกน้อยมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มที่ สมองพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ในแต่ละวัน ลูกน้อยจะโชว์ความสามารถใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ให้คุณแม่ได้ปลาบปลื้มใจ

หากแต่ว่า ความสามารถที่มีมากขึ้น ทำให้เจ้าหนูมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้นเช่นกันค่ะ เจ้าหนูจะซุกซนไปตามประสาวัยอยากรู้ อยากเห็น เขาจะใช้ทักษะที่มีมากขึ้นในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ของแขน ขา พาตัวเองไปยังที่ต่างๆ ได้ไกลจากที่เคย เขาจะหยิบ จับ และคว้าทุกสิ่งที่สนใจขึ้นมาสำรวจเล่น โดยขาดความสนใจ หรือใส่ใจในเรื่องสุขอนามัย และเมื่อรู้สึกหิว ก็จะคว้าเอาของกินใส่เข้าปากเคี้ยวหยับๆ ในทันที แหม.. ก็เขาสามารถหยิบกินเองได้ โดยไม่ต้องคอยรอให้คุณป้อน อย่างเมื่อครั้งยังช่วยตัวเองไม่อยู่นี่นา ...  เสียแต่ว่า พฤติกรรมเช่นนี้ เป็นสาเหตุให้เจ้าหนูเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดอาการท้องเสียได้ง่าย จากโอกาสที่ได้สัมผัสเชื้อโรคอยู่ตลอดเวลา 

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้พฤติกรรมการเรียนรู้ของลูกน้อย เพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณแม่ควรใส่ใจดูแลสุขภาพของเขา เพื่อป้องกันไม่ให้อาการเจ็บป่วย มาเป็นอุปสรรคขวางกั้นพัฒนาการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการดูแลเรื่องสารอาหารที่จะช่วยเสริมพัฒนาการรอบด้านให้กับลูกน้อยวัยนี้ด้วยนะคะ

สารอาหารเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และพัฒนาการทางร่างกาย
การดูแลให้เจ้าหนูมีภูมิต้านทานที่ดี จะช่วยป้องกันโอกาสเสี่ยงจากพฤติกรรมอยากรู้ อยากเห็น โดยขาดทักษะการคิดไตร่ตรองในเรื่องสุขอนามัยของเขาได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ คุณแม่ควรดูแลให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่เน้นเสริมระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับลูกน้อยเป็นลำดับแรกค่ะ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรากฐานที่ดีให้กับพัฒนาการทุกด้านของเด็ก โดยจะช่วยเสริมกระบวนการเจริญเติบโตของลูกให้พัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้เขามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และยังส่งผลทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อพัฒนาการสมองอีกด้วย



สารอาหารที่ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และการเจริญเติบโตให้กับเด็กช่วงวัยนี้ มีดังนี้ค่ะ
โพรไบโอติก หรือก็คือ จุลินทรีย์สุขภาพที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของเรานั่นเอง จุลินทรีย์ชนิดนี้จะคอยช่วยสร้างประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของลูกน้อย  โดยจะอาศัยปกคลุมเยื่อบุลำไส้ ทำให้เชื้อโรคไม่มีพื้นที่เกาะกับลำไส้เพื่อเติบโต และเพิ่มจำนวนได้ นอกจากนี้ยังหลั่งสารที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อโรคออกมาช่วยด้วยอีกแรง ดังนั้น เชื้อโรคที่ผ่านเข้ามาในลำไส้ จึงแทบไม่มีโอกาสแทรกตัวเพื่อขยายเผ่าพันธุ์ในลำไส้ได้เลย ไม่เพียงเท่านี้ จุลินทรีย์สุขภาพ ยังช่วยกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมคุ้มกัน และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยจะเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันมีการตื่นตัว และทำหน้าที่ในการจับเชื้อโรคได้ดีขึ้น 

เรียกได้ว่า จุลินทรีย์สุขภาพมีคุณประโยชน์มากมายต่อสุขภาพของลูกน้อยค่ะ เสียแต่ว่า จุลินทรีย์ชนิดนี้ ไม่มีอยู่ในอาหารทั่วไป ทำให้ปริมาณของจุลินทรีย์สุขภาพที่มีอยู่ในลำไส้เดิมมีโอกาสลดน้อยลงอยู่แทบทุกวัน การเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์สุขภาพมีเพียง 2 วิธีเท่านั้น คือ การบริโภคเข้าไปโดยตรง จากอาหารที่มีส่วนผสมของจุลินทรีย์สุขภาพ และการบริโภคใยอาหารชนิดที่เป็น พรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ เพื่อให้เข้าไปหล่อเลี้ยงจุลินทรีย์สุขภาพเหล่านี้ให้เติบโตแข็งแรง จนสามารถขยายจำนวนเพิ่มขึ้น ในปริมาณที่มากพอสำหรับสร้างประโยชน์ให้กับสุขภาพร่างกายได้

พรีไบโอติก  การรับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ จะต้องให้ได้ปริมาณที่มากพอ จึงจะส่งผลให้เกิดการขยายจำนวน จนสามารถสร้างประโยชน์ให้กับร่างกายได้ค่ะ ดังนั้น การจะหวังพึ่งการรับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพโดยตรงเพียงอย่างเดียว อาจคงต้องเหนื่อยหน่อย และบางทีอาจไม่เพียงพอต่อการเพิ่มจำนวนให้มีปริมาณมากพอที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสุขภาพของลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ค่ะ เพราะจุลินทรีย์เหล่านี้ ก็เหมือนสิ่งมีชีวิตทั่วไป ที่มีวันต้องร่วงโรยไปเป็นธรรมดา นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาไข้ ก็มีส่วนทำให้จุลินทรีย์สุขภาพถูกทำลายไปด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น คุณแม่จึงต้องดูแลให้ลูกน้อยได้รับพรีไบโอติก ซึ่งเป็นอาหารเมนูโปรดของจุลินทรีย์สุขภาพเพิ่มเติมด้วย พรีไบโอติกจะช่วยให้จุลินทรีย์เหล่านี้มีเสบียงที่จะต่อเติมชีวิตให้แข็งแรง และสามารถขยายเผ่าพันธุ์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นได้

พรีไบโอติก เป็นใยอาหารชนิดหนึ่ง ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยเองได้ แต่จะถูกย่อยโดยจุลินทรีย์สุขภาพ ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์สุขภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ระบบขับถ่ายของลูกน้อยดีขึ้นอีกด้วย เพราะพรีไบโอติกจะช่วยเพิ่มกากอาหารในลำไส้ให้มีมากขึ้น เมื่อทำงานร่วมกับจุลินทรีย์สุขภาพ จะมีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ทำให้เจ้าหนูไม่เกิดอาการท้องผูก ท้องเสีย และมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง พรีไบโอติกพบได้ในหัวหอม กระเทียม ต้นหอม กล้วย และนมแม่

แคลเซียม  เมื่อมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง  ระบบการทำงานภายในร่างกายที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สุขภาพโดยรวมดีแล้ว คุณแม่ยังควรต้องดูแลให้ลูกน้อยวัยนี้ได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพออีกด้วย นั่นเพราะเจ้าหนูในช่วงวัย 0-3 ปี มีพัฒนาการที่สำคัญของกระดูก และกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เขาสามารถใช้อวัยวะแขน ขา ในการช่วยเหลือตัวเอง ทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันได้ 

แคลเซียม เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างกระดูก และฟัน และยังมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อมีพัฒนาการที่แข็งแรงอีกด้วย โดยปกติแล้ว แคลเซียมที่เจ้าหนูได้รับจากอาหาร จะเข้าไปรักษาสมดุลของปริมาณแคลเซียมในเลือดให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ แคลเซียมส่วนที่เกิน (จากความต้องการในการรักษาสมดุลให้กับปริมาณแคลเซียมในเลือด) จะถูกสะสมไว้ในกระดูก และฟัน ยิ่งสะสมมาก มวลกระดูกก็ยิ่งมีมากพอสำหรับสร้างโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรงให้กับเจ้าหนู 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีแคลเซียมในเลือดต่ำ และลูกน้อยของคุณรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเข้าไปน้อย ร่างกายจะดึงเอาแคลเซียมที่สะสมไว้ในกระดูกออกมาใช้รักษาสมดุลแคลเซียมในเลือด ซึ่งก็จะส่งผลต่อโครงสร้างกระดูก ทำให้ประสิทธิภาพในการยืดขยายต่ำ และส่งผลต่อเนื่องไปยังกระบวนการสร้างกล้ามเนื้ออีกด้วย ทำให้การเจริญเติบโตโดยรวมของเจ้าหนูเป็นไปอย่างเชื่องช้า 

นอกจากนี้ แคลเซียมยังมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการสร้างเนื้อฟันอีกด้วย ฟันแท้ที่เสื่อม สึกหร่อ หรือเกิดการแตกแยกในเนื้อฟันขึ้นจะไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาเหมือนเดิมได้ (ยกเว้นแต่ใช้วัสดุอื่นอุด) ดังนั้น ก่อนที่กระบวนการสร้างฟันแท้เริ่มขึ้น ซึ่งโดยปกติคือ ช่วงเด็กอายุได้ 3 เดือน – 3 ปี คุณแม่ควรเสริมให้เจ้าหนูได้รับแคลเซียมอย่างเต็มที่ค่ะ

วิตามินซี  เมื่อมีโครงสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อที่แข็งแรงแล้ว ร่างกายของเจ้าหนูยังต้องการวิตามินซี มาทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ เร่งปฏิกิริยาเคมีสร้างสารคอลลาเจน เพื่อสร้างเนื้อเยื่อ และเอ็นกระดูกอ่อน เพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างพื้นฐานโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรงให้กับเจ้าหนูนั่นเอง นอกจากนี้ วิตามินซี ยังมีบทบาทสำหรับในการช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยค่ะ นี่ยังไม่พูดถึงบทบาทสำคัญอื่นๆ ของวิตามินซีอีกมาก เช่น ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เสริมความแข็งแรงให้กับเส้นเลือด และทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ถ้าหากสนใจ คุณแม่สามารถหาผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว หรือจะเป็นผักบร็อกโคลี่ กะหล่ำปลี มาให้ลูกทานก็ได้ค่ะ

สังกะสี  ที่จริงแล้ว ร่างกายของเราประกอบด้วยเซลล์จำนวนมาก รวมตัวกันก่อเกิดเป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้น เซลล์ที่แข็งแรง ย่อมสร้างชิ้นส่วนอวัยวะที่แข็งแรง และส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อย สังกะสี เป็นสารอาหารอีกตัวหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย โดยมีหน้าที่หลักในการสร้าง และส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เจ้าหนูมีพัฒนาการที่ดี และยังมีส่วนสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันลูกน้อยไม่ให้ติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้องกันการเกิดอาการท้องเสีย ที่มักเกิดขึ้นได้ง่ายในเด็กวัย 0-3 ปี มีมากในเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ธัญพืช และถั่วเหลืองค่ะ

สารอาหารเสริมพัฒนาการสมอง
วัย 0-3 ปี เป็นช่วงเวลาที่สมองมีพัฒนาการที่สำคัญอย่างรวดเร็ว ที่ว่าสำคัญนั่นก็เพราะ ช่วงเวลานี้ ภายในสมองของลูกน้อยจะมีการเพิ่มจำนวนของเซลล์ประสาทอยู่ตลอดเวลา เซลล์ประสาทเหล่านี้จะถูกเชื่อมต่อกัน เมื่อถูกกระตุ้นโดยความพยายามในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ของหนูน้อย ยิ่งเจ้าหนูเรียนรู้มาก เซลล์ก็ยิ่งเชื่อมต่อกันมากขึ้น การเชื่อมต่อนี้ จะเป็นไปอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีแรกเท่านั้น หลังจากนี้ อัตราการเชื่อมต่อจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุด เซลล์ประสาทที่ไม่ได้ถูกใช้งานจะเสื่อมสลายไป

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ลูกน้อยกำลังพยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพื่อสร้างโครงข่ายใยประสาทอยู่นี้ คุณแม่ควรช่วยเจ้าหนูอีกแรง ด้วยการดูแลให้เขาได้รับสารอาหารที่ช่วยเสริมการทำงานของเซลล์ประสาทในสมอง  ซึ่งมีดังต่อไปนี้ค่ะ

ดีเอชเอ  เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท ซึ่งจะทำให้การรับส่งข้อมูลระหว่างสมองส่วนบัญชาการ กับประสาทการรับรู้ทั้งห้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ ในช่วงเวลาที่สมองของเจ้าหนูมีการแตกกิ่งก้านสาขาของเส้นประสาทจำนวนมากนี้ คุณแม่ควรดูแลให้เขาได้รับดีเอชเอในปริมาณที่มากพอ สำหรับให้ร่างกายของเขานำมาใช้สร้างเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทนะคะ  ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เจ้าหนูมีการเรียนรู้ที่เร็วแล้ว ยังทำให้เขามีความจำที่ดีอีกด้วย เพราะปริมาณเส้นใยประสาทที่มีมาก จะทำให้เนื้อสมองเกิดลอนในการกักเก็บข้อมูลได้มากขึ้น ดีเอชเอมีมากในน้ำมันปลาค่ะ

อีเอฟเอ  เป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ แต่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการสมองมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัย 0-3 ปี EFA มีส่วนผสมของกรดไขมันจำเป็นโอเมก้า 3  และโอเมก้า 6 ในสัดส่วนที่เหมาะกับการทำประโยชน์ให้กับร่างกาย  และจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการทำงานร่วมกับโอเมก้า 9 

โดยโอเมก้า 3 และ 6 นั้น จะมีการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสมองโดยตรง คือ ช่วยเสริมการทำงานของระบบประสาท และจอประสาทตา และช่วยเรื่องการมองเห็น ส่วนโอเมก้า 9 จะช่วยควบคุมปริมาณไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งแรง และช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดอาการภูมิแพ้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งมักจะมีอาการภูมิแพ้ได้ง่าย นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย มีมากในน้ำนมถั่วเหลือง, น้ำมันปลา และปลาทะเล

ธาตุเหล็ก  เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเนื้อเยื่อในสมอง โดยธาตุเหล็กจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะนำเอาออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง และหัวใจ ซึ่งเป็นส่วนที่มีเส้นเลือดปริมาณมาก ดังนั้นธาตุเหล็กจึงมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการสมอง นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ ทำให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง และเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอีกด้วย ในตำราพัฒนาการเด็กเล็กบางเล่ม จะแนะนำให้คุณแม่เสริมอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงให้กับลูกน้อยวัย 6 เดือนขึ้นไป เพราะเด็กแรกเกิดยังมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง จำเป็นต้องได้รับสารอาหารเสริมภูมิคุ้มกันจากแม่เป็นหลัก ซึ่งช่วงวัย 6 เดือน ภูมิคุ้มกันจากน้ำนมของคุณแม่เริ่มไม่เพียงพอ จึงต้องได้รับเพิ่มเติมจากอาหารเสริมค่ะ

อย่างไรก็ตาม ธาตุเหล็กปริมาณมาก อาจส่งผลให้เจ้าหนูเกิดอาการท้องผูกขึ้นมาได้ ดังนั้น คุณแม่ต้องอย่าลืมเสริมเรื่องจุลินทรีย์สุขภาพด้วยนะคะ ส่วนธาตุเหล็กจะมีมากในเนื้อสัตว์ทุกชนิด  นม กล้วย และเมล็ดธัญพืช

วิตามินบี 1, 6, 12  เป็นกลุ่มสารอาหารที่สร้างประโยชน์ต่อพัฒนาการสมอง และระบบประสาทโดยตรงเลยทีเดียวค่ะ มีมากในเมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปัง ข้าว ซีเรียล เนื้อหมู ตับ สารอาหารในกลุ่มวิตามินบี แต่ละตัวจะมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญแตกต่างกันดังนี้ค่ะ

    -วิตามินบี 1  ช่วยในการทำงานส่งผ่านสัญญาณประสาทระหว่างสมอง กับไขสันหลัง เป็นส่วนสำคัญในการสังเคราะห์สารที่ใช้ควบคุมการทำงานของระบบประสาท การขาดวิตามินบี 1 จึงอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายไม่มีแรง ลูกน้อยไม่สามารถพัฒนาการกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญของเด็กวัยนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยให้เซลล์ในร่างกายแปลงคาร์โบไฮเดรตให้เป็นพลังงาน ทำให้ลูกน้อยมีกำลังมากขึ้น

    -วิตามินบี 6  เป็นตัวช่วยธาตุเหล็กอีกแรงในการสร้างฮีโมโกบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งถ่ายออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะ สมอง และหัวใจ ด้วยเหตุนี้ หากคุณแม่ประสบปัญหาลูกน้อยท้องผูก และคุณหมอแนะนำว่าจำเป็นต้องลดธาตุเหล็กลง กรณีนี้ วิตามินบี 6 จะสามารถทำหน้าที่นี้ ทดแทนธาตุเหล็กได้ค่ะ เจ้าหนูจะยังคงได้รับสารอาหารที่ช่วยสร้างประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์เม็ดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อพัฒนาการสมองของลูกน้อย

    -วิตามินบี 12  เป็นสารอาหารอีกตัว ที่มีส่วนช่วยให้กระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ร่างกายยังใช้วิตามินบี 12 ในการสร้างเซลล์ส่งสัญญาณประสาท ทำให้ระบบประสาทมีการทำงานที่ดีขึ้นอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้