Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
แม่ป่านเชื่อว่าในชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง ประสบการณ์ที่มีค่าและน่าจดจำที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิต คือการตั้งครรภ์และการคลอดลูก ความมหัศจรรย์นั้นเริ่มต้นตั้งแต่ได้รู้ว่ามีชีวิตน้อยๆกำลังเติบโตอยู่ในท้องของเรา นับตั้งแต่นั้นชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งก็เปลี่ยนไป กลายเป็น “ว่าที่คุณแม่” ที่ดูแลตัวเองมากขึ้น พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และยอมทำทุกสิ่งเพียงเพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์
การตั้งครรภ์ตลอดระยะเวลา 9 เดือนของคุณแม่นั้น เพื่อที่จะรอคอย “วันคลอด” ซึ่งเป็นวันที่แม่จะได้เจอลูกเป็นครั้งแรก แม่ป่านเชื่อว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกคนนั้นล้วนแต่รอคอยวันนี้อย่างใจจดจ่อ คุณแม่อาจจะมีความรู้สึกตื่นเต้นและกังวลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แรกเนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ และอาจจะคาดเดาไม่ถูกเลยว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง วันนี้แม่ป่านจึงมาเขียนเล่าประสบการณ์ในช่วงเวลาก่อนการคลอดลูกทั้งสองคน รวมไปถึงแนะนำการดูแลร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงก่อนคลอดมาให้แม่ๆได้อ่านกันค่ะ เผื่อมีประโยชน์นะคะ
คุณแม่หลายๆคนพอใกล้คลอดแล้วจะเริ่มกังวลและคิดมาก แม่ป่านก็เป็นเช่นนั้นค่ะ ตั้งแต่อายุครรภ์เริ่มเข้า 36-37สัปดาห์ เป็นเวลาที่เริ่มตื่นเต้นและกังวลอย่างจริงจัง เพราะถือว่าถึงช่วงเวลาที่น้องอาจจะคลอดวันไหน เมื่อไหร่ก็ได้ (แม่ป่านเลือกการคลอดแบบธรรมชาติค่ะ เลยกำหนดวันคลอดแน่นอนไม่ได้ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีและตื่นเต้นไปอีกแบบค่ะ)
แม่ป่านพยายามเตรียมความพร้อม ศึกษาหาข้อมูลทั้งจากในหนังสือ, อินเตอร์เนต รวมไปถึงสอบถามข้อสงสัยกับคุณหมอที่ฝากครรภ์โดยตรงก็แล้ว เตรียมทุกอย่างพร้อมแล้วก็จริงแต่ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นอยู่ดี โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนการคลอดลูกครั้งแรก ค่ะ
“....อยากรู้จริงๆเลย ความรู้สึกตอนคลอดนั้นมันเป็นยังไงนะ จะเหมือนในละครที่เคยดู จะเหมือนในหนังสือที่เคยอ่านหรือเปล่า เราจะรู้สึกเจ็บขนาดไหนกันนะ เราจะทนไหวไหม ลูกจะปลอดภัยหรือเปล่า เราดูแลตัวเองและเตรียมพร้อมดีหรือยัง?”
ในหลากหลายอารมณ์ของช่วงไตรมาสสุดท้ายนั้น มีทั้งความรู้สึกตื่นเต้นและดีใจค่ะ ...ดีใจที่การรอคอยใกล้จะสิ้นสุดลง, ดีใจที่จะได้เจอลูกตัวจริงเสียที, อยากรู้ว่าหน้าตาของลูกจะเป็นอย่างไร, รู้สึกตื่นเต้นอยากอุ้มและอยากให้นมลูก, อยากเห็นเวลาสามีได้อุ้มลูกเป็นครั้งแรก รวมไปถึงความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เข้าห้องคลอดจริงๆ ได้เบ่งคลอด และใช้การฝึกหายใจที่เคยซ้อมมาตลอดเสียที
นอกจากความตื่นเต้นและดีใจนั้น ยังมี “ความกลัว และความกังวล” ต่างๆมากมายเข้ามาในหัว สารภาพว่าสมัยนั้นแม่ป่านจินตนาการอะไรต่อมิอะไรในหัวมากมายเลยค่ะ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่หรือเคยมีประสบการณ์แล้วเคยรู้สึกเหมือนกันไหมคะว่ายิ่งใกล้กำหนดคลอดมากเท่าไหร่ คุณแม่ก็เตรียมตัวและเตรียมข้าวของเครื่องใช้เด็กอ่อนไว้เพรียบพร้อม แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อมเอาเสียเลย? ในตอนนั้นรู้สึกกลัวการเข้าห้องคลอด, กังวลว่าลูกจะคลอดออกมาปลอดภัยหรือไม่, กลัวว่าตัวเองจะทนความเจ็บปวดไม่ไหว, กังวลจะเกิดเหตุการณ์อะไรที่คาดไม่ถึงในห้องคลอดหรือไม่ หรือจะคลอดในตอนที่สามีไม่ได้อยู่ข้างๆหรือเปล่า
แม่ป่านคิดว่า “ความกังวลก่อนคลอด” นั้น เกิดจากการที่เราไม่มีประสบการณ์ พอเราไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้างก็เลยคิดจินตนาการไปไกล และในจินตนาการนี่แหล่ะค่ะ ความกลัวที่เรารู้สึกลึกๆอยู่แล้วจะถูกสมทบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในจินตนาการนั้น ..
แล้วคุณแม่ใกล้คลอดจะก้าวข้ามผ่านความกังวลนี้ไปได้อย่างไร? แม่ป่านมีเคล็ดลับดีดีที่ได้ลองด้วยตัวเองแล้วได้ผลมาฝากกันค่ะ..
พูดคุยกับคุณแม่ที่มีประสบการณ์ การได้นั่งคุยสอบถามความรู้สึก และการเตรียมตัวจากผู้มีประสบการณ์ตรง จะทำให้มองเห็นภาพในวันคลอดและช่วงเวลาต่อจากนั้นชัดเจนขึ้น โดยปกติแล้วคุณแม่ที่มีประสบการณ์มักจะบอกเคล็ดลับดีดีต่างๆมากมายกลับมาเสมอ โดยเฉพาะรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สำคัญ การได้นั่งคุยกับคุณแม่ตัวจริงจะทำให้ละความกังวลลงมากทีเดียวค่ะ และยังรู้สึกผ่อนคลายสบายใจมากขึ้นด้วยนะคะ
ก่อนการนัดพบคุณหมอประจำตัว คุณแม่จดบันทึกสิ่งที่สงสัยไว้เป็นข้อๆ และสอบถามคุณหมอให้กระจ่างทุกครั้งที่ได้มีโอกาสนั่งคุยกับคุยหมอ หากไม่แน่ใจอะไรสอบถามคุณหมอโดยตรงจะดีที่สุดค่ะ นอกจากนี้ในช่วงเวลาก่อนคลอดคุณแม่จะต้องเลือกแพคเกจคลอด... โดยคุณหมอจะให้คำแนะนำในเรื่องการวางแผนการคลอดว่าคุณแม่จะเลือกวิธีคลอดแบบไหน แบบธรรมชาติ ผ่าคลอด หรือคลอดในน้ำ, คุณแม่อยาก block หลังตอนคลอดหรือไม่, อยากให้น้องเข้าเต้าทันทีหลังคลอด หรืออื่นๆ หากคุณแม่มีความตั้งใจหรือประสงค์สิ่งไหนก็สามารถปรึกษาคุณหมอได้โดยตรงค่ะ
ดูคลิปวิดิโอการคลอดแบบต่างๆใน Youtube .. ฟังดูแปลก แต่ช่วยได้จริงๆนะคะ อย่างที่แม่ป่านเคยเกริ่นไว้ว่าความกลัวของคุณแม่อย่างเราส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราไม่รู้ว่าเราจะต้องเจออะไรบ้างในห้องคลอด เมื่อเราไม่รู้ เราก็หาดูของจริงเสียเลย ... หลายๆคนอาจจะยังไม่แน่ใจจะทนดูไหวไหมเพราะรู้สึกกลัว แต่ถ้าไหวยังไงลองหาดูนะคะ แล้วจะพบว่าการคลอด โดยเฉพาะการคลอดแบบธรรมชาตินั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิดไว้เลยค่ะ อีกทั้งยังอาจจะได้เคล็ดลับดีดีที่ช่วยคุณแม่ระหว่างคลอดเพิ่มเติมด้วยนะคะ ตัวย่างเช่นแม่ป่านสมัยที่เปิดดูคลิปการคลอดต่างๆแล้วพบว่ามีคุณแม่ต่างชาติหลายๆท่านที่เปิดเพลง classic เบาๆคลอไประหว่างที่รอคลอด แม่ป่านมีความเชื่อส่วนตัวว่าน้องจะสามารถจำเพลงที่ได้ยินแม่เปิดให้ฟังเป็นประจำได้ และหากวันคลอดน้องได้ฟังก็จะช่วยให้ทั้งตัวคุณแม่และลูกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นค่ะ ในวันคลอดจริงแม่ป่านจึงขออนุญาตคุณหมอเปิดเพลง classic ที่เปิดฟังมาเป็นประจำในระหว่างที่รอคลอดด้วยค่ะ ผลปรากฎว่าการเปิดเพลงบรรเลาเบาๆระหว่างคลอด ช่วยให้แม่ป่านคลายความตื่นเต้นกังวลได้มากจริงๆด้วยนะคะ
เตรียมร่างกายให้พร้อม คุณแม่สามารถตรวจเช็คร่างกายกับคุณหมอที่ฝากครรภ์โดยตรงเพื่อให้แน่ใจว่าสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้องปลอดภัยสมบูรณ์แข็งแรงดี และการออกกำลังกายเบาๆอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นร่างกายของคุณแม่ให้มีความพร้อมในการคลอดมากขึ้นไปอีก คุณแม่ควรจะเริ่มออกกำลังกายอย่างปลอดภัยในช่วงไตรมาสที่ 2 และเพิ่มความระมัดระวังขึ้นอีกนิดในไตรมาสที่ 3 การออกกำลังกายอย่างปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นสามารถทำได้หลายอย่างเลยค่ะ เช่น การว่ายน้ำ, การเดินในน้ำ, การเดินเบาๆ, การทำโยคะสำหรับแม่ท้อง และการเข้าฟิตเนสในความดูแลของเทรนเนอร์ผู้มีประสบการณ์ สำหรับแม่ป่านนั้นเลือกการว่ายน้ำ และการออกกำลังกายในน้ำ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ง่าย รู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย แถมยังได้ใช้เวลาดีดีอยู่กับครอบครัว (มาว่ายน้ำด้วยกัน)อีกด้วยค่ะ การว่ายน้ำสำหรับแม่ท้องนั้นสามารถหาข้อมูลได้ในอินเตอร์เนตและในหนังสือการออกกำลังกายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยจะแนะนำท่าทางการออกกำลังกายที่ถูกต้องและปลอดภัยให้ครบถ้วน หากท้องเริ่มมีขนาดใหญ่โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้าย อยากให้คุณแม่เพิ่มความระวังเป็นพิเศษ หาคนอยู่เป็นเพื่อน พยายามออกกำลังกายเบาๆ และระวังหกล้มด้วยค่ะ
เตรียมตัวให้นมแม่ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายโดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนคลอดนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการผลิตน้ำนม อย่างเช่น ฟักทอง, กระเพรา, กระเทียม, ขิง, เม็ดขนุน และดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้น้ำนมมีปริมาณที่มากและมาเร็วขึ้นด้วยค่ะ สำหรับแม่ป่านนั้นไม่ได้ทานพวกยากระตุ้นน้ำนม แต่จะรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรตามธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมมากกว่า เช่น แกงเลียง, ไก่ผัดขิง, ผัดกระเพรา, ซุปหมูสับโหระพา และอื่นๆ นอกจากนี้อย่างหนึ่งที่อยากแนะนำคุณแม่หลายๆคนจะพบว่าน้ำนมไม่ได้มาทันทีหลังคลอดซึ่งเป็นเรื่องปกติไม่ต้องกังวลแต่อย่างใดนะคะ จากประสบการณ์ของแม่ป่านนั้นน้ำนมมักจะมาในช่วงวันที่ 2-3 หลังจากคลอด ในบางรายน้ำนมมาก่อนคลอดก็มี บางคนมา 1 อาทิตย์หลังคลอดก็มี แต่ละคนแตกต่างกันไป คุณแม่ใจเย็นๆนะคะเดี๋ยวน้ำนมก็มาค่ะ
เตรียมความพร้อมด้านจิตใจ คุณแม่หาที่เงียบสงบแล้วลองฝึกนั่งสมาธิโดยกำหนดลมหายใจเข้าออกช้าๆ หรือใช้เวลาว่างอ่านหนังสือและฟังเพลงบรรเลงเบาๆเพื่อผ่อนคลาย การฝึกสมาธิแบบนี้จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายมากขึ้นในตอนรอคลอดคะ แม่ป่านพบว่าในวันคลอดจริงนั้น มันจะมีความตื่นเต้น, ความกังวล, ความคาดหวัง, ความกลัวต่างๆมากมายอยู่ในหัว แต่ถ้าเราสามารถฝึกจิตใจให้สงบจะช่วยให้การคลอดเป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น และดีต่อตัวของลูกน้อยและคุณแม่เองด้วยนะคะ
เตรียมสิ่งของเครื่องใช้สำหรับเด็กอ่อนและอุปกรณ์การให้นมให้พร้อม การทำ list รายการของใช้ที่จำเป็นและตระเตรียมให้พร้อมนั้นเป็นสิ่งที่จะทำให้คุณแม่นั้นคลายกังวลลงได้ เมื่อหาซื้อมาครบแล้ว ลองใช้เวลาว่างที่มีนั่งจัดข้าวของของลูกให้เข้าที่พร้อมใช้ และหยิบได้ง่าย เพื่อนที่วันจริงเวลาพาลูกกลับบ้านจะได้ไม่ฉุกละหุกและวุ่นวายมากนักค่ะ ของใช้สำหรับเด็กอ่อนที่จำเป็นที่ควรเตรียมให้ครบตั้งแต่ก่อนคลอด เช่น ผ้าอ้อม, เพมเพริส, ชุดเด็กอ่อน หมวก ถุงมือ ถุงเท้าที่ซักทำความสะอาดเรียบร้อย, car seat (สำคัญมากตั้งแต่วันที่พาน้องกลับบ้าน), รถเข็น, ครีมอาบน้ำ, โลชั่นบำรุงผิว, ทิชชู่เปียก,ยาที่จำเป็น, ผ้าเช็ดตัว และอื่นๆ ในส่วนของอุปกรณ์ให้นมนั้นยกตัวอย่างเช่น เครื่องปั๊มนมไฟฟ้า,ผ้าคลุมให้นมแบบเต็มตัว,ที่ประคบร้อน,สมุนไพรเสริมน้ำนม และอื่นๆ ในบทความครั้งหน้าแม่ป่านจะมาเขียนเรื่องราวของการเตรียมอุปกรณ์ก่อนคลอดให้พร้อมอย่างละเอียดตามฉบับคุณแม่ลูกสองมาให้อ่านกัน อย่าลืมติดตามนะคะ
จัดกระเป๋าไปคลอดโดยมีของใช้ส่วนตัวของคุณแม่, บัตรประชาชน, ที่ชาร์ตมือถือและกล้องถ่ายรูป, ชุดกลับบ้าน, ยาที่จำเป็น, อุปกรณ์ปั๊มนมจัดเตรียมไว้วางในจุดที่หยิบได้ง่าย หรือจะใส่หลังรถไว้เลยก็ดีค่ะ การเตรียมกระเป๋าไปคลอดให้พร้อมนั้นจำเป็นมากโดยเฉพาะในช่วง1-2 อาทิตย์ก่อนกำหนดคลอด
วางแผนเส้นทางไปคลอด หากโรงพยาบาลที่จะคลอดอยู่ห่างจากบ้าน หรือรถติดมาก การวางแผนเส้นทางและเวลาเผื่อคลอดนั้นสำคัญมากๆเลยนะคะ ลองนั่งวางแผนดูว่าคุณพ่อและคุณแม่จะขับรถโดยใช้เส้นทางไหนที่สะดวก และประหยัดเวลาที่สุดค่ะ การจดเบอร์โทรศัพท์เผื่อฉุกเฉินก็มีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่ากันค่ะ
หากใครมีลูกคนโต “การเตรียมใจพี่คนโตก่อนวันคลอดน้อง” เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยจะเตรียมความพร้อมพูดคุยถึงสมาชิกใหม่ที่กำลังจะเข้ามามีส่วนร่วมในครอบครัวตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ คุณแม่และคุณพ่อสามารถช่วยกันสร้างทัศนคติดีดีเกี่ยวกับการมีพี่น้องที่รักใครปรองดองช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับพี่คนโตก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้คนโตนั้น มีความรู้สึกยินดีที่จะมีน้องและจะไม่ทำให้พี่คนโตรู้สึกว่าพ่อแม่จะรักน้องคนใหม่มากกว่าตัวเองค่ะ เคล็ดลับง่ายๆที่แม่ป่านลองแล้วรู้สึกว่าดี คือก่อนคลอดนั้นคุณแม่เตรียมของขวัญสำหรับพี่คนโต เป็นของขวัญชิ้นเล็กๆที่พี่คนโตชอบ รวบรวมไว้หลายๆชิ้น โดยที่ไม่ต้องเป็นอะไรที่มีราคาสูงมากนัก แต่เตรียมไว้เพื่อให้คนที่มาเยี่ยมคลอดได้มอบให้กับพี่คนโต ให้พี่คนโตรู้สึกว่าตนเองนั้นยังเป็นคนที่สำคัญและเป็นที่รักเสมอค่ะ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถเตรียมของขวัญชิ้นพิเศษที่จะมอบให้พี่คนโต โดยวางไว้ข้างๆน้องที่เพิ่งคลอดในวันที่พี่และน้องได้พบกันครั้งแรก และบอกกับลูกคนโตว่า “สวัสดีค่ะ นี่น้องของหนูนะคะ น้องจะมาขออยู่ด้วยกัน และน้องมีของขวัญมามอบให้กับพี่ด้วยนะคะ” ... เคล็ดลับนี้จะช่วยให้พี่คนโตรู้สึกว่าการมีน้องนั้นเป็นสิ่งที่แสนพิเศษ จะช่วยปรับทัศนคติที่มีระหว่างพี่น้องให้ดียิ่งๆขึ้นไป
แม่ป่านเชื่อว่าหากคุณแม่ตั้งครรภ์เตรียมร่างกาย จิตใจและอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อมแล้ว จะช่วยลดความกังวลและความรู้สึกตื่นเต้นที่มีลงมากที่เดียวค่ะ และแม่ป่านเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะต้องเจออะไรในห้องคลอดคุณแม่จะสามารถผ่านไปได้อย่างดีทุกคน ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ รักษาสุขภาพนะคะคุณแม่
ในบทความครั้งหน้าแม่ป่านจะทยอยเขียนเกี่ยวกับเคล็ดลับการเตรียมของใช้เด็กอ่อน, การเตรียมตัวสำหรับคุณแม่ที่อยากจะให้นมแม่ให้สำเร็จ , เล่าประสบการณ์คลอดลูกโดยวิธีธรรมชาติทั้งสองท้อง, ประสบการณ์ตกเลือด, และแชร์ประสบการณ์วันวุ่นๆที่พาลูกกลับบ้านวันแรก รวมไปถึงเคล็ดลับการเลี้ยงลูกและ lifestyle การเลี้ยงลูกตามธรรมชาติในแบบฉบับของแม่ป่าน คุณแม่เต็มเวลาลูกสองที่แชร์ประสบการณ์ตรง รอติดตามกันนะคะ
10 มิ.ย. 2562
29 ก.ย. 2566