Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวหนึ่งที่สังคมให้ความสนใจคือ เรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว โดยในเดือนกันยายน 2559 พบผู้ติดเชื้อ เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 20 ราย หนึ่งในนั้นเป็นหญิงตั้งครรภ์ ที่ให้กำเนิดทารกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าการติดตามอาการล่าสุดไม่พบว่าทารกมีความผิดปกติ แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าติดตามอาการและรอฟังผลเลือดอีกเป็นระยะ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ อาจมีความกังวลไม่มากก็น้อยเกี่ยวกับเชื้อไวรัสตัวนี้ เพราะหากติดเชื้อ ลูกน้อยในครรภ์ก็มีโอกาสได้รับผลกระทบโดยตรง นิตยสารบันทึกคุณแม่ฉบับนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสซิกา ให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจ และเตรียมตัวระวังป้องกันเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยและตัวคุณเอง
ทำความรู้จักไวรัสซิกา
นายแพทย์อํานวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า โรคไข้ซิกา (Zika fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) จําพวกเดียวกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกีไวรัสเวสต์ไนล์และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอีมียุงลาย เป็นแมลงนําโรค โดยมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4-7 วัน สั้นสุด 3 วัน และยาวสุด 12 วัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ออกผื่นตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง อาจมีอาการอื่นๆ ได้เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ําเหลืองโตและอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทําให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก (microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง เช่น ทวีปอเมริกา และทวีปแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์เพราะอาจติดเชื้อแล้วทําให้ทารกมีศีรษะเล็ก และสมองฝ่อได้ส่วนในประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 5 ราย ซึ่งไม่ถือว่าอัตราป่วยใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวัง โรคนี้แล้วตั้งแต่ปี 2556
ทั้งนี้ ไวรัสซิกาค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2490 ที่ป่าซิกาในยูกันดา ตั้งแต่นั้นมายังพบเป็นส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา และพบการระบาดเป็นระยะ ๆ ในเอเซีย ในปี พ.ศ. 2550 มีการระบาดที่สำคัญ คือ การระบาดบนเกาะ Yap (ไมโครนีเซีย) มีประชากรที่มีการติดเชื้อเกือบ 75 %
เมื่อซิกาเข้าสู่ร่างกาย
หากผู้ป่วยถูกยุงที่ติดเชื้อกัด จะทำให้มีไข้ต่ำ ๆ และมีผื่นผิวหนัง ที่เรียกว่า exanthemaรวมทั้ง มักจะมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดข้อ และรู้สึกปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วยได้ โดยทั่วไปจะมีอาการใน 2 - 7 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยโรคไข้ซิกา ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง จึงสามารถรักษาตัวได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ามากๆ รักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวดพาราเซตามอลห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะมียาบางชนิดที่เป็นอันตรายสำหรับการเป็นโรคนี้ อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
จะเห็นว่าโรคไข้ซิกา ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วไปเท่าใดนัก แต่กรณีที่มีการแพร่ระบาด และทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับเชื้อ ก็อาจส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ได้ ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณะสุข ระบุว่าหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสซิกาเช่นเดียวกับคนทั่วไป โดยการถูกกัดจากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค หญิงตั้งครรภ์โดยทั่วไปที่มีการติดเชื้อ อาจมีเพียง 1 ใน 4 คนเท่านั้นที่แสดงอาการ และมีอาการที่ไม่รุนแรง อาการส่วนใหญ่มีไข้ต่ำ ๆ ผื่นขึ้นตามร่างกาย อาจพบมีเยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ และข้อ อ่อนเพลีย ซึ่งจะเกิดอาการหลังจากการถูกยุงที่มีเชื้อกัด 2 - 7 วันการวิเคราะห์เบื้องต้นจากการวิจัยโดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศบราซิลพบว่ามีความสัมพันธ์ของการติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์ต่อการเกิดภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิดของทารกในครรภ์โดยเฉพาะการติดเชื้อนี้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
ภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด กับไวรัสซิกา
จากข้อมูลตามสื่อต่างๆ คุณพ่อคุณแม่อาจพอทราบแล้วว่า หากคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ก็อาจทำให้ลูกน้อยมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิดได้ ซึ่งการวิเคราะห์เบื้องต้นจากหน่วยงานของประเทศบราซิล ระบุว่า ภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิดเป็นความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือผู้ที่วางแผนมีบุตร ควรระมัดระวังตนเองจากการถูกยุงกัด หากกำลังตั้งครรภ์ก็ควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์จาก Centers for Disease Control and Prevention (CDC)ประเทศสหรัฐฯ ได้สรุปความเกี่ยวเนื่องระหว่างไวรัสซิกา กับภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด ในวารสารการแพทย์ New England ว่า ไวรัสซิกามีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด รวมไปถึงภาวะสมองพิการแต่กำเนิดอื่นๆ ด้วย โดยผลการศึกษานี้ ชี้ว่า หญิงที่ติดเชื้อไวรัสซิกาขณะตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะให้กำเนิดทารกที่มีภาวะดังกล่าว แต่ไม่ได้หมายความว่าหญิงตั้งครรภ์ทุกรายที่ติดเชื้อไวรัสซิกา จะคลอดลูกที่มีภาวะสมองพิการแต่กำเนิดหรือมีภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิดแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยที่ติดเชื้อ แต่ก็ให้กำเนิดลูกที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี
ภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิดคืออะไร
ภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิดหรือที่เรียกว่า microcephalyคือการที่ทารกแรกเกิดมีศรีษะเล็กกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด โดยทั่วไปแล้วศรีษะของทารกในครรภ์จะขยายใหญ่ขึ้นตามสมองที่มีพัฒนาการใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย ดังนั้นในกรณีที่ทารกมีขนาดศรีษะเล็กกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าสมองไม่มีการเจริญเติบโตตามที่ควรจะเป็นขณะอยู่ในครรภ์ และหยุดเจริญเติบโตหลังคลอด ภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด อาจมีภาวะพิการแต่กำเนิดอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ นอกจากนี้ ทารกที่มีภาวะนี้อาจมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา ได้แก่
- ลมชัก
- พัฒนาการล่าช้า ไม่ว่าจะเป็น พัฒนาการทางภาษา หรือพัฒนาการทางร่างกาย เช่น การคลาน การนั่งการเดินฯ
- มีปัญหาด้านสติปัญญา (ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ)
- มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและการทรงตัว
- มีปัญหาด้านการกิน เช่น กลืนลำบาก
- มีปัญหาด้านการฟัง และการมองเห็น
ปัญหาสุขภาพเหล่านี้อาจอยู่ในระดับเล็กน้อย ไปจนถึงรุนแรง ขึ้นอยู่กับว่าสมองได้พัฒนาไปขนาดไหนขณะอยู่ในครรภ์ แต่ทั้งนี้ภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด หากไม่เกี่ยวกับไวรัสซิกาแล้ว ก็พบได้น้อยมาก คือพบได้ ประมาณ 2:10,000 ราย อย่างไรก็ตามหากไวรัสซิกายังระบาดต่อไป โดยเฉพาะในประเทศเปอโตริโก กรมควบคุมและเฝ้าระวังโรคCenters for Disease Control and Preventionของสหรัฐฯ ระบุว่าประชากร 1 ใน 4 รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อ
ศรีษะเล็กแต่กำเนิด...ไม่ได้เกิดจากซิกาเท่านั้น
แม้ว่าเราส่วนใหญ่จะเริ่มรู้จักกับภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด เนื่องจากการแพร่กระจายของไวรัสซิกา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
1. การติดเชื้อบางอย่างระหว่างตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน โรคทอกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis)หรือการติดเชื้อปรสิต การติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูลเดียวกับโรคเริม เป็นต้น
2. การขาดสารอาหารอย่างรุนแรง หรือแม่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับประทานอาหารอย่างเพียงพอ
3. ได้รับสารเคมีรุนแรงปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงแอลกอฮอล์และสารเสพย์ติดต่างๆ ด้วย
4.เลือดไม่ไปเลี้ยงสมองทารกขณะอยู่ในครรภ์
ทั้งนี้ภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิดสามารถตรวจทราบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ด้วยการอัลตร้าซาวน์ หลังจากทารกคลอดออกมา แพทย์จะตรวจด้วยการวัดขนาดศรีษะของทารก หากเจ้าตัวน้อยมีขนาดศรีษะเล็กกว่าเด็กวัยและเพศเดียวกันประมาณ 3 เปอร์เซ็นไทน์ ก็มีความเป็นไปได้ว่าทารก มีภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด ซึ่งโรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่ระดับความรุนแรงของโรคมีตั้งแต่ศรีษะเล็กอย่างเดียว แต่ไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะไม่กระทบกับการดำรงชีวิตประจำวันของลูกเท่าใดนัก เพียงแต่ต้องนัดพบแพทย์ตรวจร่างกายเป็นระยะ กรณีที่มีอาการรุนแรง และมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ แพทย์จะทำการรักษาไปตามอาการ ซึ่งการได้รับการดูแลจากแพทย์ตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต ก็จะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้นได้
19 พ.ค. 2566
6 เม.ย 2566
26 เม.ย 2566