เมื่อลูกจาม... อย่าวางใจ

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

สำหรับพ่อแม่มือใหม่ เมื่อเจ้าตัวเล็กมีอาการส่อว่าอาจจะเจ็บป่วยไม่สบาย ก็มักจะหวาดวิตกกังวลไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวอย่างนี้ หากทารกเกิดมีอาการจาม ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย ขึ้นมา คุณก็คงอดกังวลไม่ได้ว่าลูกจะถูกไข้หวัดเล่นงานหรือเปล่า อาการจามในทารกนั้นมีสาเหตุหลายประการที่เราควรทำความเข้าใจค่ะ

แค่ฮัดเช้ย! ไม่ได้ป่วยนะ
การจามในทารกแรกเกิดเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อย และไม่ได้หมายความว่าลูกป่วยหรือเป็นไข้เสมอไป ในความเป็นจริงแล้วการจามของทารกถือเป็นปฏิกิริยารีเฟล็กซ์หรือปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่ช่วยเคลียระบบทางเดินหายใจให้หนูน้อยหายใจได้คล่องต่างหาก คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ได้ตระหนักว่าอาการที่เราหายใจเข้าไปในแต่ละวันนั้น เต็มไปด้วยฝุ่นละออง สารเคมีตกค้าง และเชื้อโรคต่างๆ ที่แม้จะไม่ทำอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย แต่ปฏิกริยารีเฟล็กซ์ด้วยการจามของทารกนั้นก็ช่วยให้หนูน้อยได้รับอากาศที่สะอาดขึ้นได้ ดังนั้น หากคุณพบว่าลูกจามบ่อยๆ แต่ไม่ได้มีอาการอื่นๆ ข้างเคียงก็ไม่ต้องตกใจไปค่ะ

สาเหตุหลัก ที่ลูกรักฮัดเช้ย!....จมูกเล็ก
แน่นอนว่าปากนิด จมูกหน่อยของทารกนั้นดูน่ารักจิ้มลิ้ม แต่จมูกน้อยๆ ของลูกนั้นก็ทำให้โพรงจมูกของลูกแคบลงไปด้วย ทำให้สิ่งแปลกปลอมในอากาศ เช่น ขนสัตว์เลี้ยง หรือฝุ่นละอองต่างๆ เข้าไปติดค้างได้ง่าย ลูกน้อยจึงต้องจามเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกไป

ทำให้จมูกโล่ง
ตามธรรมชาติแล้ว ทารกแรกเกิดจะชินกับการหายใจทางปาก และไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เจ้าตัวน้อยจะปรับตัวจากการหายใจทางปากมาเป็นการหายใจทางจมูก ดังนั้นการจามเพื่อเคลียร์ทางเดินหายใจจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้ทารกปรับตัวได้ง่ายขึ้น

เพื่อเปิดรูจมูก
การจามจะช่วยบรรเทาอาการรูจมูกอุดตันได้ โดยเฉพาะขณะที่ทารกดูดนมแม่ รูจมูกของลูกจะอยู่ติดกับลำตัวของคุณแม่มาก ทำให้อาจรูจมูกอาจถูกปิดกั้น ดังนั้นเมื่ออิ่มนมแล้ว ทารกจึงอาจใช้การจามเพื่อทำให้รูจมูกกลับมาหายใจได้คล่องดังเดิม

สาเหตุการจาม ที่ต้องตามดูแล
ต่อไปนี้เป็นสาเหตุการจามอื่นๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยดูแลป้องกันเพื่อให้ลดการจามของลูกได้ค่ะ

อากาศแห้ง
โพรงจมูกของทารกมักจะแห้งได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวหรือเมื่ออยู่ในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้ลูกจามบ่อย หายใจมีเสียง และอาจมีน้ำมูก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ เพิ่มความชื้นในอากาศภายในห้อง โดยหากเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็ควรปรับอุณหภูมิให้ไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส และอาจใช้เครื่องทำไอน้ำ เพื่อให้ในห้องมีความชื้นมากขึ้น

สารก่อความระคายเคือง
สิ่งแปลกปลอมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง หรือกระทั่งน้ำนม(ที่หลุดเข้าสู่โพรงจมูกหลังจากที่ลูกสำลักหรืออาเจียน)  อาจส่งผลให้จมูกเกิดการระคายเคือง ทำให้หนูน้อยจามบ่อยๆ ได้เช่นกัน สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ ดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ และห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในบ้าน

ภูมิแพ้
บางครั้งอาการภูมิแพ้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งในอาการจามของลูก ทำให้หนูน้อยหายใจไม่สะดวก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าลูกน้อยมีอาการแพ้สิ่งใดเฉพาะเจาะจงหรือเปล่า เช่น ลูกจะมีอาการจาม และหายใจไม่ออกทุกครั้ง หลังจากเล่นกับสัตว์เลี้ยง ก็อาจเป็นได้ว่าลูกแพ้ขนสัตว์ เป็นต้น เมื่อรู้ว่าลูกแพ้อะไร ก็ควรหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้เจ้าตัวน้อยต้องสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หากเป็นมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้