สอนลูกน้อยผ่าน รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส 

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ในโลกแห่งนิ้วสัมผัสหน้าจอกำลังเป็นที่แพร่หลาย ภาพชินตากับเด็กน้อยวัยยังเดินไม่ได้ใช้นิ้วน้อยๆสัมผัสจอสี่เหลี่ยมบนโต๊ะในขณะที่ตาก็เพ่งมองแมวเหมียวน้อยในจอสิ่งเหล่านี้ คงเป็นภาพคุ้นชินของทุกๆคนไปแล้วใช่ไหมค่ะ แต่การที่เราปล่อยให้เด็กน้อยอยู่เพียงจอและ จินตนการที่ไร้กลิ่นไร้สัมผัส   ต่อให้ผู้ใหญ่จะอธิบายอย่างไรเด็กน้อยก็จะไม่มีวันเข้าใจว่าแท้จริงแล้วแมวเหมียวน้อยที่ขนปุกปุยมันมีสัมผัสที่น่ากอด ทะนุถนอมอย่างไร หากหนูน้อยไม่ได้สัมผัสแมวเหมียวจริงๆ.

มองและเห็น…โลกแสนสวย
“ลูกจ๋า เห็นแมวเหมียวไหมค่ะ” ในขณะที่คุณแม่กำลังชี้ไปที่แมวเหมียวที่กำลังคลุกคลีเล่นไหมพรมกองโต “ลูกจ๋า เห็นจักรยานสีแดงที่พี่ๆกำลังปั่นเมื่อกี้ไหมคะ” หนูน้อยมองหันตามเสียงชี้ชวน ภาพเหล่านักปั่นวัยประถมแก๊งค์ใหญ่ประจำซอย   หรือไม่คุณแม่ก็ชี้ชวนให้มองดอกไม้ ต้นไม้ และสิ่งต่างๆ เป็นประจำ ขณะพาลูกเดินเล่นยามเย็น พยายามชวนลูกได้ดูโน่นดูนี่   เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทางตาของลูกน้อยทำให้การเรียนรู้ของลูกสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้

รสเปรี้ยว หวาน มัน และเค็ม ลิ้มลองให้รู้
ลูกน้อยวัย 1-3 ปี กำลังเรียนรู้ที่จะรับประทานอาหาร คุณแม่ควรใช้ช่วงเวลานี้ชักชวนให้ลูกน้อยกล้าที่จะลองและเอร็ดอร่อยกับอาหารหลากหลาย แต่ต้องไม่ลืมที่จะสอนให้ลูกรู้ว่าอะไรที่หนูกำลังทานและมีประโยชน์อย่างไร ให้ลูกได้ทั้งอร่อย ได้ประโยชน์และเพลิดเพลินไปกับการชวนพูดคุยของคุณพ่อคุณแม่ ถ้าหากลูกอยากลองจะใช้นิ้วจับอาหารเข้าปากบ้าง การใช้นิ้วสัมผัสที่หลากหลายของอาหาร ไม่ว่าจะเหนียว นุ่ม กรุบกรอบ ก็เป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกได้เป็นอย่างดี   ข้อควรระวัง ช่วงระหว่างที่ลูกอยู่ในวัยอยากลอง คุณแม่อย่าให้ลูกติดหวาน หรือของรสจัดจนเกินไปนะคะ

หอมอะไร หอมชื่นใจจัง
นอกจากการสนุกกับการฝึกประสาทสัมผัสทางการมองและการลิ้มรสแล้ว หลายๆท่านอาจลืมที่จะใช้โอกาสฝึกให้ลูกมีประสาทสัมผัสทางการดมกลิ่น ทั้งที่ความจริงแล้ว ประสาทสัมผัสการดมกลิ่นของลูกจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ ทำให้ลูกจดจำได้มากขึ้นแต่ก็มีข้อระมัดระวังนั่นก็คือ อย่าปล่อยให้ลูกดมสิ่งของต้องห้ามที่มีกลิ่นฉุนเกินไปค่ะ 

เสียงก้อง กระทบใบหู
การกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการฟังของลูกบ่อยๆ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านภาษาให้กับลูก  เสียงของคุณพ่อคุณแม่ที่ชี้ชวน    ดูสิ่งต่างๆ  ทั้งภาพและเสียงอธิบายประกอบ จะทำให้ลูกน้อยค่อยเรียนรู้ เข้าใจ และจดจำได้มากขึ้น การแยกแยะเสียงต่างๆ ประกอบกับการได้เห็นที่มาของเสียงแต่ละชนิด ก็อาจจะทำให้เขาสามารถเชื่อมโยงและรับรู้จดจำ สิ่งของหรือเหตุการณ์ต่างๆ อันมักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับเสียงนั้นๆ ได้ เช่น เสียงสตาร์ทรถยนต์ตอนเช้า คือคุณพ่อกำลังจะไปทำงาน เสียงมอร์เตอร์ไซค์จอดพร้อมเสียงแตร คือบุรุษ   ไปรณีย์มาส่งจดหมาย   

แตะๆ จับๆ  นี่คืออะไร
สัมผัสทางกาย  เป็นการเรียนรู้ความรู้สึกที่มีมาตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว ทารกน้อยจะได้รับสัมผัสแสนอบอุ่นจากคุณแม่   ได้เรียนรู้ ความรักจากอ้อมกอด   เราอาจจะเคยเห็นทารกมีปฏิกิริยาเอื้อมมือไขว่คว้าจับหน้าคุณแม่อีกด้วยและเมื่อลูกน้อยโตขึ้น  ลูกจะมีพัฒนาการ ทางพร้อมเรียนรู้มากขึ้นตามวัยพร้อมที่จะเรียนรู้ผ่านการสัมผัสมากขึ้น  ช่วงต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ลูกได้สัมผัสกับผิวสัมผัสที่แตกต่าง หลากหลาย เช่นการได้คลาน นอนกลิ้ง วิ่งเล่นบนสนามหญ้า หรือคลุกตัวเล่นบนชายหาด ปั้นดินน้ำมัน สิ่งเหล่านี้จะนับเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางการเรียนรู้ของลูกอย่างยิ่ง    

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้