Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
New Face of Fatherhood มิติใหม่ของบทบาทพ่อ ชีวิตของการเป็นพ่อแม่นั้นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย โดยเฉพาะสำหรับคุณแม่จะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แต่สำหรับคุณพ่อ อาจต้องใช้เวลาสักพักถึงจะเริ่มรู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นในชีวิต คุณพ่อหลายคนอาจยังไม่รู้สึก “อิน” กับคำว่า "พ่อ" จนกระทั่งเจ้าตัวน้อยลืมตามาดูโลก หรือบางคนก็อาจใช้เวลาปรับตัวให้ “อิน” กับความเป็นพ่อนานหลายเดือนหลังเจ้าตัวน้อยคลอดออกมาแล้ว แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คุณพ่อควรรู้ไว้เสมอว่า บทบาทของพ่อนั้นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคุณแม่เลยทีเดียว แม้จะมีหลายอย่างที่คุณพ่อทำไม่ได้เหมือนคุณแม่ แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างเช่นกันที่คุณอาจไม่เคยรู้ว่าคุณทำได้ และสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตทั้งทางกายและจิตใจของลูกในระยะยาวทีเดียว
อย่าปล่อยให้บทบาทพ่อหายไป
ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเปิดเผยผลการสำรวจความสุข เรื่อง “บทบาทของพ่อในครอบครัว” ด้วยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างพ่อที่มีอายุ 25-60 ปี ในเขตกทม.และปริมณฑล จำนวน 1,563 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2551พบว่า คุณพ่อ 79% พักอาศัยอยู่กับลูก โดยในจำนวนนี้คุณพ่อ 69.7% ต้องทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง โดยในวันทำงานมีเวลาพูดคุยกับลูกและครอบครัวเพียงวันละ 50 นาที นอกจากนี้ผลวิจัยยังระบุอีกว่า คุณพ่อกว่า 80.4% มักแสดงอารมณ์หงุดหงิดกับลูกและคนในครอบครัว 65.2% มักดุด่าและใช้คำหยาบคายกับลูกและครอบครัว
จากผลการศึกษาดังกล่าว จะเห็นว่าบทบาทของพ่อในสังคมไทยนั้น อาจไม่ค่อยใกล้ชิดกับลูกเท่าที่ควร อีกทั้งเมื่อมีเวลาอยู่กับลูก ก็อาจไม่ได้ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพซึ่งเหตุผลอาจมาจากความเครียดในการทำงาน หรือภาระหน้าที่ต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม กุมารแพทย์ให้คำแนะนำว่า บทบาทของพ่อที่หายไปนี้ อาจส่งผลให้ลูก มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ขาดทักษะในการดำเนินชีวิตในสังคม ขาดความรักที่สมบูรณ์แบบ ทำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น รวมทั้งยังอาจส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศได้อีกด้วย
รู้ไหม พ่อแบบไหนลูกไม่ประทับใจ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของสังคมไทย ยังมองว่าพ่อมีหน้าที่เป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ดังนั้นการที่พ่อออกไปทำงานนอกบ้าน ใช้เวลาอยู่กับการทำงานมากกว่าการดูแลลูกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในสังคมชายเป็นใหญ่เช่นสังคมของเรา ความเชื่อลึกๆ ของสังคมยังเชื่อว่า ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง ซึ่งรวมถึงการมีอำนาจภายในครอบครัวด้วย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ที่ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว โดยการสนับสนุนจากสสส. ในการสำรวจเรื่อง “บทบาทของพ่อในครอบครัว : กรณีศึกษาประชาชนอายุ 12-30 ปี ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล” จำนวน 1,320 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5-10 เม.ย. 2554 ที่ระบุว่า สิ่งที่ลูก “ไม่ประทับใจ” ในตัวพ่อมากที่สุดคือ การดื่มเหล้า เที่ยวเตร่ ติดอบายมุข รองลงมาคือ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิด ขี้โมโห เอาแต่ใจ เจ้าชู้ และไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ตามลำดับในทางกลับกันเมื่อถามถึงสิ่งที่ลูก “ประทับใจ” ในบทบาทพ่ออันดับแรกคือ การดูแลเอาใจใส่ครอบครัว รองลงมาคือ การเป็นแบบอย่างสั่งสอนสิ่งที่ดีให้กับลูก และการทุ่มเททำงานหนักเพื่อครอบครัว ตามลำดับ
มิติใหม่ของบทบาทพ่อ
แม้ว่าในสังคมไทยลึกๆ ยังเชื่อว่า พ่อคือผู้นำและเสาหลักที่ต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ก็มีครอบครัวจำนวนไม่น้อย ที่พ่อแม่มีบทบาทเท่าเทียมกันมากขึ้น ประกอบกับการเปิดรับสื่อและวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตก ก็ทำให้ครอบครัวหันมาให้สนใจกับความสำคัญของบทบาทพ่อต่อการเลี้ยงลูกมากขึ้น
ในปัจจุบันจะพบว่ามีคุณพ่อจำนวนไม่น้อย ที่ทุ่มเทเวลาให้กับลูกอย่างจริงจัง การเป็นคุณพ่อฟูลไทม์ กลายเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยจนอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติของสังคม โดยเฉพาะสังคมเมืองที่มีความเป็นครอบครัวเดี่ยวสูง ในการศึกษาเรื่อง The New Face of Fatherhood โดย Yahoo ร่วมมือกับ Brand & Strategy Firm Audience Theory และ Lpsos พบว่าคุณพ่อยุคใหม่ มีค่านิยม มุมมองและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากเหตุผล 3 ประการด้วยกัน คือ
- ภาวะตกงานที่มากขึ้นของผู้ชาย (Mancession) ในวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบไปทั่วโลก มีคุณพ่อจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับภาวะตกงาน ด้วยเหตุนี้ทำให้คุณพ่อส่วนหนึ่งตัดสินใจที่จะอยู่บ้านเลี้ยงลูก โดยในจำนวนนี้มีถึง 70% ที่เลือกจะเป็นคุณพ่อฟูลไทม์โดยสมัครใจ
- บทบาททางเพศที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ปัจจุบันคุณพ่อทำงานบ้านและดูแลลูกๆ มากขึ้นกว่าในยุคที่ผ่านๆ มา หน้าที่ต่างๆ ในครอบครัวถูกแบ่งโดยความเหมาะสมและเงื่อนไขของเวลามากกว่าบทบาททางเพศ ทำให้บทบาทของพ่อยุคใหม่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยคุณพ่อกลุ่มนี้ มีโอกาสที่จะใช่เวลากับการทำกิจกรรมกับลูก มากขึ้นถึง 26%มีโอกาสที่จะอาบน้ำให้กับลูกสูงถึง 45%และมีโอกาสที่แต่งตัวให้กับลูกสูงถึง 77%
- ค่านิยมใหม่ของความเป็นพ่อ คุณพ่อยุคใหม่มีค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ พวกเขาต้องการมีบทบาทในชีวิตของลูกมากขึ้น ต้องการมีความผูกพันทางอารมณ์กับลูกมากกว่าที่พวกเขาเคยได้รับจากพ่อของตนเองในยุคก่อน โดยผลการศึกษาพบว่า 74% ของพ่อสมัยนี้ให้เวลากับลูกมากกว่าที่พ่อของตัวเองเคยให้
26 ส.ค. 2567
4 ก.ย. 2567
3 ต.ค. 2567
27 ก.ย. 2567