Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
การฝึกหายใจ วิธีฝึกหายใจเพื่อลดอาการเจ็บท้อง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะ 1 ขณะเจ็บท้องในห้องรอคลอด การหายใจที่ถูกต้อง จะช่วยลดอาการเจ็บปวดลงได้ ในช่วงแรกที่มดลูกยังหดตัวไม่ถี่ คุณแม่จะรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ที่มดลูกจะหดตัวอีกครั้ง ดังนั้นเมื่อมดลูกเริ่มมีอาการหดตัว ให้หายใจเข้าลึก ๆ 1 ครั้งเมื่อมดลูกหดตัว ให้หายใจถี่ขึ้น โดยหายใจด้วยทรวงอกส่วนบน ความถี่นี้จะตามการหดตัวของมดลูกไปจนมดลูกคลายตัวหมด แล้วให้หายใจลึก ๆ ในตอนท้ายอีก 1 ครั้ง จากนั้นก็หายใจตามปรกติ
การที่หายใจลึก ๆ ก่อนและหลังหายใจถี่นั้น ก็เพื่อให้ได้รับออกซิเจนเพียงพอ และช่วยลดอาการเจ็บท้องได้บ้าง การหายใจแบบนี้ต้องมีการฝึกไว้ก่อนตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนสุดท้าย เพราะคุณแม่ไม่อาจไปหัดได้ในห้องคลอด ขณะที่กำลังทุรนทุรายจากอาการเจ็บท้อง
ระยะที่สอง ขณะเบ่งคลอดในห้องคลอด เมื่อปากมดลูกเปิดหมด เด็กจะเลื่อนต่ำลงมากดทวารหนักทำให้รู้สึกอยากเบ่งอุจจาระ ระยะเวลาตั้งแต่ปากมดลูกเปิดหมดจนกระทั่งคลอด จะกินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในครรภ์แรกและครึ่งชั่วโมงในครรภ์หลัง การเบ่งที่แรงที่สุดและไม่ตรงจังหวะของการหดรัดตัวของมดลูกอาจทำให้เกิดมีการฉีกขาดมาก ตรงบริเวณปากทางออกของมดลูกได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องเรียนรู้จังหวะของการเบ่งคลอด และสามารถเบ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแรงช่วยเบ่งที่สำคัญที่สุดคือการเกร็งหน้าท้องถ้ากล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรง หรือหน้าท้องแตกลายและปริแตก จะมีปัญหาเรื่องไม่มีแรงช่วยเบ่งคลอด ดังนั้น การบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรพลาดเพื่อที่การคลอดจะได้ง่ายขึ้น
วิธีฝึกหายใจ (ในห้องคลอด) เมื่อครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว จะเริ่มมีอาการปวดท้องเตือน ผู้ที่กำลังจะเป็นคุณแม่จะมีอาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามการหดรัดตัวของมดลูก การเตรียมตัวในช่วงนี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้การคลอดง่ายขึ้นและลดความทรมานจากอาการเจ็บปวด การเตรียมตัวมีดังต่อไปนี้
-ให้คุณแม่ตั้งครรภ์นอนอยู่ในท่าหงายชันเข่า กางขาออกจากกัน ใช้หมอนหนุนศีรษะและไหล่ให้สูงมือจับเสาข้างเตียงให้ข้อศอกงอเล็กน้อย เมื่อมดลูกเริ่มหดตัว ให้เริ่มหายใจเข้าทางจมูกลึก ๆให้หน้าท้องพองและหายใจออกช้า ๆ ให้หน้าท้องยุบมากที่สุด
-เมื่อมดลูกหดรัดตัวมากที่สุด ให้สูดหายใจเข้าให้เต็มที่ แล้วกลั้นหายใจพร้อมกับออกแรงเบ่งแรง ๆ นาน ๆ จากนั้นจึงผ่อนคลายด้วยการหายใจออกลึก ๆ ทำเช่นนี้จนกว่ามดลูกจะคลายการหดรัดตัว จึงสูดหายใจเข้า-ออกลึก ๆ 1 ครั้ง ก่อนหายใจตามปรกติ และเมื่อเห็นกระหม่อมเด็กจะต้องหยุดเบ่งทันที เพื่อป้องกันการฉีกขาดของปากช่องคลอด ในระยะนี้อ้าปากกว้าง ๆ แล้วหายใจแบบหอบเร็วๆ จะทำให้เลิกสนใจการเบ่ง
อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายการเกร็งของก้นเป็นสิ่งสำคัญมากในการช่วยป้องกันการฉีกขาดดังกล่าววิธีการหายใจแบบนี้ ว่าที่คุณแม่ทุกคนควรได้เรียนรู้แต่ไม่จำเป็นต้องฝึกปฏิบัติในเรื่องของการเบ่งคลอด
10 มิ.ย. 2562
29 ก.ย. 2566