Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
การคลอดที่ปลอดภัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดูแลของคุณหมอเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองด้วย ทำอย่างไรให้คลอดง่ายและปลอดภัย 5 วิธีต่อไปนี้ช่วยคุณได้ค่ะ
1. คุณควรมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณหมอผู้ดูแลครรภ์ให้กับคุณ โดยป้อนคำถามที่จะทำให้คุณได้รู้จักตัวคุณหมอมากขึ้นก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการคุณหมอท่านนั้นๆ เช่น คุณหมอผ่านประสบการณ์มามากน้อยแค่ไหนแล้ว คุณหมอเคยปฏิบัติการผิดพลาดขึ้นหรือไม่ และคุณหมอได้ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้อย่างไร โดยในระหว่างที่คุณถามให้มองตาของคุณหมอโดยตรง จะทำให้คุณหมอทราบถึงความตั้งใจจริงที่คุณต้องการจะทราบถึงข้อมูลเหล่านั้น แต่ถ้าหากคุณหมอมีทีท่าหงุดหงิด หรือไม่พอใจที่จะตอบ บางทีการเปลี่ยนคุณหมอผู้ดูแลครรภ์คนใหม่อาจทำให้คุณรู้สึกสบายใจกว่านี้ก็ได้
2. การเลือกสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับการคลอดของคุณ คุณแม่ตั้งครรภ์บางท่านต้องการคลอดที่บ้าน แต่ยังรู้สึกลังเล เพราะมีเพื่อนบ้าน หรือญาติพี่น้องผู้หวังดีกระซิบบอกว่าไม่ปลอดภัย เพราะไม่มีเครื่องมือเทคโนโลยีเหมือนในโรงพยาบาล ก็เลยกล้าๆ กลัวๆ ความจริงแล้ว “บ้าน” นั่นแหละเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการคลอดของคุณ แต่ถ้าคุณรู้สึกปลอดภัยกว่าหากจะได้อยู่ใกล้เครื่องไม้เครื่องมือของหมอ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสิ่งสำคัญที่คุณจะนำมาเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจเลือกสถานที่คลอดเจ้าตัวน้อยก็คือ คุณรู้สึกสบาย หรือผ่อนคลายกับสถานพยาบาลนั้นหรือไม่
3. ควรเขียนแผนการคลอดของคุณขึ้นมาหนึ่งฉบับ เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องการให้เกิดขึ้นกับคุณในช่วงระหว่างคลอด เช่น อยากให้ระยะแรกของการคลอดเกิดขึ้นที่ไหน ถ้าเป็นที่บ้าน คุณจะมีวิธีอะไรในการตรวจดูการหดรัดตัวของมดลูก คุณอยากให้มีใครบ้าง อยู่หรือไม่อยู่ในห้องคลอดด้วย คุณต้องการให้คุณหมอทำอะไรกับคุณได้หรือไม่ได้บ้าง เช่น การโกนขนที่บริเวณหัวหน่าว การตัดฝีเย็บ หรือการสวนอุจจาระ คุณต้องการให้คุณหมอช่วยบรรเทาปวดให้กับคุณด้วยวิธีใด เช่น ใช้ยาบล็อกหลังหรือไม่ หรือใช้ยาช่วยเร่งคลอดหรือไม่ เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วจะให้คุณหมอนำมาส่งให้กับคุณเพื่อให้เขาได้ดูดนมจากอกคุณเลยหรือไม่ หรือจะให้พ่อของเด็กได้เป็นผู้ตัดสายสะดือให้กับลูกหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ หากคุณได้อ่านหนังสือคู่มือการตั้งครรภ์ หรือสอบถามข้อมูลกับผู้รู้ หรือแม้แต่ตัวคุณหมอเอง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในห้องรอคลอด และห้องคลอด อุปกรณ์เครื่องมือ หรือยาต่างๆ ที่คุณหมออาจจะนำมาใช้ในระหว่างการคลอด ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คุณสามารถนำมาใช้เขียนแผนการคลอดในแบบที่คุณต้องการได้
4. ก๊อปปี้แผนการคลอดที่คุณเขียนขึ้นมาอีกหนึ่งแผ่น แล้วนำไปคุยกับคุณหมอผู้ดูแลครรภ์คุณ ก่อนที่จะถึงวันครบกำหนดคลอด เพื่อที่คุณหมอจะได้ทราบจุดประสงค์ของคุณ และให้คำแนะนำปรึกษาถึงสิ่งที่ทำได้หรือไม่ได้ เพราะบางครั้งการตัดสินใจว่าควรจะทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และความพร้อมของร่างกายคุณ และเด็กในครรภ์ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น คุณมีสิทธิที่จะกำหนดแผนการคลอดด้วยตัวคุณเอง และคุณหมอก็ควรปฏิบัติตามที่คุณร้องขอ เว้นแต่จะสุดวิสัยเท่านั้น ดังนั้น หากคุณหมอปฏิเสธ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ เพราะคุณหมอส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการที่จะต้องทำตามคำสั่งของใคร ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ขอแนะนำให้คุณเปลี่ยนคุณหมอที่จะทำคลอดให้ดีกว่า เลือกหาคุณหมอที่เข้าใจและพร้อมที่จะทำให้คุณสบายใจดีกว่า
5. การใช้กล้องวิดีโอตัวเล็กๆ ถ่ายภาพเหตุการณ์ขณะคุณหมอทำคลอดให้กับคุณ จะเป็นการบันทึกหลักฐานชิ้นสำคัญ หากเกิดกรณีผิดพลาดขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันหลายโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนอนุญาตให้นำกล้องเข้าไปถ่ายภาพในระหว่างการทำคลอด นอกจากนี้คุณยังมีสิทธิที่จะได้รับสำเนาใบบันทึกประวัติการรักษาของแพทย์ ซึ่งถ้าหากคุณสงสัยในบริการของคุณหมอ ก็อาจนำเอาบันทึกประวัติการรักษานั้นไปให้ผู้รู้ช่วยถ่ายทอดให้ฟังได้ และถ้าคุณเกิดไม่พอใจในบริการของคุณหมอก็สามารถนำเอาใบบันทึกประวัตินี้ไปใช้ในการยื่นฟ้องแพทยสภาได้ด้วยเช่นกัน
29 ก.ย. 2566
9 ต.ค. 2567