เลี้ยงลูกผู้หญิง.. คุณค่าแท้จริงต้องยังไง ?

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ครั้งหนึ่งเพื่อนรุ่นพี่อดีตนักวิทยาศาสตร์โครงการดาวเทียมทีออสลง คลิปโฆษณา ของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงที่ใช้ออกแบบการเล่นด้านวิศวกรรมมาทางเฟซบุ๊คหากดูคลิปผ่านๆ ไปแบบไม่ได้คิดซับซ้อน ก็จะพบภาพเด็กหญิง 3 คน ที่กำลังนั่งชมรายการเพลงสำหรับเด็กหญิ๊ง..เด็กหญิง ด้วยอาการเบื่อหน่ายไร้ชีวิตชีวา จนเด็กทั้ง 3 คว้าเอาอุปกรณ์ช่างของเล่นมาแปลง เครื่องเล่น ของใช้ ในบ้าน นอกบ้าน ในสวน โรงรถ ฯลฯ ให้กลายมาเป็นอุปกรณ์ส่งแรง ที่เชื่อมจากห้องหนึ่งทะลุออกนอกบ้าน..แล้ววนออกถนน..วนกลับมาในบ้าน และในที่สุดอุปกรณ์สำคัญกดลงมา "ปิดสวิชท์ TV" รายการเพลงสำหรับเด็กหญิงนั้นเสีย เด็กๆ เหล่านั้นน่ารัก สดใส ห้าวนิดๆ แต่ที่สำคัญ มีภาพของความเบื่อการยัดเยียดความคิดบางอย่างจากการ "ปิด TV" ออกมาด้วยค่ะ



สะท้อนให้ครูป๋วยนึกถึงวัยเด็กของตนเอง ซึ่งเป็นคนที่ซนในระดับที่เรียกว่า มาก..ถึงมากที่สุด  หม่าม๊า(คุณแม่)เปรยให้ฟังบ่อยมาก(และตนเองก็จำได้ด้วย)ว่าครูป๋วยได้รับอุบัติเหตุบ่อยมาก หนักที่สุดคือตอน 2 ขวบก้อนเหล็กที่ชั่งน้ำหนักกระสอบหล่นทับนิ้วแตก 2 นิ้ว(ตอนนี้นิ้วมีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของ ET มากค่ะด้านบนโตๆ และแคบลงมา) จากนั้นก็มีวีรกรรมมาเรื่อยๆ  เวลาตามหาครูป๋วยไม่เจอแม่จะไปตามในโรงงาน ที่มีขนาดแค่ 1 ไร่ กับเครื่องมืออันมากมายหนักๆใหญ่ๆ มีซอกมุมให้หลบเยอะๆ มาคิดๆดูไม่รู้ว่ารอดตายมาได้อย่างไรนะคะ (=_=!) เพราะจำได้ว่าเคยลงไปในปล่องร่อนถั่ว เล่นซ่อนหากับน้องชายค่ะ แล้วพี่ๆคนงานมาเปิดเครื่อง เทคนิคดีด้วยนะคะเอาขาทั้งสองยันไว้ เครื่องเลยไม่ได้สั่นกระแทกลงมา ไม่อย่างนั้นต้องโดนร่อนออกมาพร้อมกับเป็นถั่วแบนๆกระโหลกยุบแน่ๆค่ะ แค่คิดก็ขนลุกนะคะครูป๋วยเนี่ย ทำไปได้!!!

นอกจากในโรงงานที่เป็นสนามเด็กเล่นแล้ว บนหลังคาโรงงานเป็นสุดยอดสนามเด็กเล่น  ที่ไม่เคยมีพี่ๆน้องๆคนไหนเคยตามไปนะคะ เพราะเป็นสถานที่ลับสุดยอด ในการนำไม้กระดาน 2 แผ่นมาพาดและเรียงสลับกันไปเรื่อยๆ นำพาตนเองจากจุดหนึ่ง ไปยังอีกจุดหนึ่ง บ่อยครั้งก็ไปโผล่ที่หน้าห้องนอนตนเองซึ่งมีจุดเชื่อมจากชานของหลังคาโรงงาน ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรค่ะ รู้สึกว่าอยู่บนนั้น สงบ..สุข..และสนุกมากด้วยนะคะ ถ้าเป็นน้ำหนักตัว ณ ปัจจุบัน ไม่อยากจะนึกค่ะ จากพื้นถึวหลังคาโรงงาน น่าจะสัก 10 เมตรได้ ตกลงมาก็คำนวนเอานะคะว่าจะเป็นยังไง (+_+!)



สองเรื่องนี้เป็นวีรกรรมย่อยๆ เพราะมีอีกมากที่เดียว ครูป๋วยมักทำลืมๆ เวลาเจอญาติๆ รุ่นเดียวกัน แต่คงพอการันตีความห้าวหาญเกินหญิงของครูป๋วยได้ดีทีเดียวนะคะ  ที่จะเล่นแบบเด็กผู้หญิง คือ แต่งตัวตุ๊กตา ทำหม้อข้าวหม้อแกง ฯลฯ นึกไม่ออกจริงๆค่ะ ถ้าจะนึกได้ก็มีแต่ๆ เล่นกับน้องชาย เช่น สร้างบ้านให้มด  สร้างชิงช้านั่งหน้าบ้านด้วยเชือก ต่อสู้  แปลงร่างยอดมนุษย์ ฯลฯ นึกได้แค่นั้นจริงๆ ฉนั้นพี่สาวน่าสงสารมากค่ะ เอ๊ะ!!หรือจะดีใจที่เราไม่ไปยุ่งด้วย (^_^!)

ความที่เติบโตมาด้วยสายตาของผู้คนที่พร่ำบอกว่า "เราเป็นลูกสาวที่ไม่เหมือนลูกสาว" ไม่ได้ยังความมั่นใจในตัวของหม่าม๊า(คุณแม่)ของครูป๋วยเลยนะคะ แต่ถามว่าเคยกังวลมั๊ย ? ท่านก็บอกว่า "กังวลมาก!!!!!"เพราะกลัวว่าเราจะไม่ได้อยู่จนโตเป็นสาว หรือถ้าจะเป็นสาวจะแยกแยะความแตกต่างของผู้ชายกับผู้หญิงได้หรือเปล่า แต่พอเราเริ่มเป็นสาวจริงๆในวัยที่เริ่มมีประจำเดือน ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นมาเอง นั่นก็คือเรียบร้อยขึ้น ใช้วิธีการเดินมากกว่าตีลังกา  นั่งสวยขึ้น(ท่านคงหมายถึงหนีบขาเป็น) ยอมใส่กระโปรมมากขึ้นไม่นั่งร้องไห้เหมือนจะขาดใจ(แต่ต้องใส่กางเกงขาสั้นข้างใน) ฯลฯ แต่ความคล่องแคล่วยังคงเป็นเช่นเดิม ท่านก็เลยโล่งใจไปค่ะ

เมื่อมานั่งถอดรหัสความซุกซนของตัวเองดู ก็พบว่าการที่เด็กผู้หญิง 1 คน ไม่ชอบการเล่นแบบสวยๆ งามๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการเล่นเป็นการตอบสนองพลังงานของเด็กต่อโลกในแบบที่เด็กคนนั้นๆ เป็นเท่านั้น เนื่องจากโตเป็นสาวแล้วครูก็รักสวย..รักงามไม่เบานะคะ (^_^) แม้ว่าจะมีความงามน้อยก็ตาม  ในวัยเด็กครูมีภาวะ Hyperactive มากๆ จะให้ครูมานั่งเล่นหม้อข้าวหม้อแกง แต่งตัวตุ๊กตา ฯลฯ ไม่ได้ช่วยให้ครูลดพลังงานในตัวลงได้อย่างเพียงพอ ก็เลยต้องไปออกแรงให้รีดพลังให้ออกมาๆ จนหมด  ไม่อย่างนั้นครูที่โรงเรียนต้องแย่แน่ๆ ค่ะ วันๆ ไม่ต้องสอนวิ่งไล่จับครูป๋วยอย่างเดียวก็แย่ละคะ



แบบเรียนที่แม่ให้อีกบทหนึ่งก็คือ การรับผิดชอบงานบ้าน ที่แม่ของครูป๋วยแนะนำเสมอว่าเป็นคุณสมบัติของกุลสตรี งานบ้านที่ว่านี้ก็เป็นงานที่เน้นการใช้แรงงานทั้งสิ้น ท่านให้งานได้เหมาะกับพลังงานของลูกจริงๆ (=_=!) ตั้งแต่ ซักถุงเท้า ล้างจาน เก็บกวาดบ้าน ถูบ้าน ฯลฯ ท่านมีประโยคเด็ดว่า "ถ้าเราทำไม่เป็น แล้วจะไปแนะนำคนงานที่บ้านได้ยังไงต่อไป เราต้องทำให้เป็นก่อน" เอ่อเน้อ..ครูมานั่งคิดๆ ดู ตกลงรุ่นครูก็เลยไม่ต้องใช้ไม้กวาดของเล่น เครื่องซักผ้าของเล่น จานของเล่น ฯลฯ ใช้ของจริงเรียน..ให้รู้กันไป ท่านก็เลยประหยัดค่าของเล่น ได้ฝึกให้ลูกเรียนรู้ และได้ลูกสาวจริงๆ มาทำงานค่ะ

การได้รับความยอมรับและความเข้าใจจากคนเป็น "แม่" ช่วยลดความไม่เข้าใจตัวเองที่เพื่อนๆ มักถามว่า "ป๋วยเป็นผู้ชายที่มาใส่กระโปรงเหรอ?" ไปได้เยอะเลยทีเดียว  แม้วัยประถมจะไม่ใช่วัยที่น่าจดจำนักสำหรับครูป๋วย แต่การได้สนทนากันในห้องครัวทุกเย็นระหว่างที่ป๋วยล้างจาน..แม่เก็บครัว ช่วยให้ครูป๋วยคลี่คลายตนเองว่าผู้หญิงที่สวย..อย่างแม่(สวยขนาดที่ได้รับการทาบทามให้ประกวดนางสาวไทย) ก็ยังต้องทำงานบ้าน  ครูป๋วยก็เลยว่าจะลองสวย..อย่างครูป๋วย ในแบบของครูป๋วยดูบ้าง(ตามที่จะพึ่งเป็น =_=!) ลองดูสักตั้งซิจะเป็นอะไร? 

เมื่อแม่มั่นใจในความเป็นหญิงในแบบของลูก..ลูกก็สามารถบ่มเพาะ "เอกลักษณ์" ในแบบของตน จนครูป๋วยจำได้ว่า จากเด็กผู้หญิงนั่งงงๆเบื่อๆอยู่ในห้องเรียนตอนประถมศึกษาจนถึงมัธยมต้น  เพราะไม่ได้เป็นที่น่าสนใจของเพื่อนและครูสักเรื่อง  ได้รับการบ่มเพาะความมั่นใจจนเต็มที่จนกลายไปเป็น "ผู้นำนักเรียน" ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ และแม้กระทั่งครูบาอาจารย์ตลอดจนเจ้านายในทุกองค์กรมาตราบจนทุกวันนี้ ดังนั้นครูป๋วยจึงเชื่อเหลือเกินว่า ความเป็นผู้หญิง..แท้จริงคือความเป็น "แม่" ที่อยู่ภายในตัวเรา จะสะท้อนออกมาในเวลาที่พร้อม ในแบบของเรา..ด้วยตัวเรา และในเวลาที่เหมาะสมค่ะ



ทุกวันนี้สังคมของผู้ใหญ่กำลังผลักดันแนวคิดผ่านของเล่นเด็กที่ถูกระบุมาเฉพาะว่าเป็นของ "เด็กผู้หญิง" อยู่หรือไม่  หรือกำลังสร้างค่านิยมบางอย่างให้กับคุณค่าของความเป็น "เด็กผู้หญิง" อยู่หรือเปล่า? การกลับมาให้คุณค่าของความเป็นเด็กผู้หญิง กับแนวคิด แนวปฏิบัติของความดีงามทีเด็กๆ สรรค์สร้างได้ คือเรื่องที่สำคัญกว่าหรือไม่ เพือ่ให้เด็กผู้หญิงตัวน้อยๆ สามารถนำคุณค่าไปสร้างให้เป็นเครื่องมือของชีวิตในอนาคตต่อไป  สังคมในวัน "พรุ่งนี้" ถูกกำหนดด้วยการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความคิดให้กับเด็กๆ ใน "ปัจจุบัน" หากเรามัวแต่กังวลกับความงามภายนอก..ที่สามารถใช้เวลาเรียนรู้กันได้แค่ไม่กี่ชั่วโมง  แต่ไม่เคยวิตกกับความงามภายใน..ที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะกันทั้งชีวิต เราอาจหมดเปลืองทั้งพลังงาน และเวลาไปกับสิ่งเป็นคุณค่าเทียมกันต่อไปนะคะ

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้