เทคนิคการจัดการปัญหา ลูกกินยาก เลือกกิน

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

ปัญหาการกิน...ปัญหานี้เจอได้บ่อยในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ขวบค่ะ เพราะเป็นวัยที่เค้าเริ่มทำอะไรเองได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การพูด การเล่น ดังนั้นเด็กวัยนี้จึงมีความเป็นตัวเองสูง เด็กหลายคนจากที่ทานง่าย อะไรก็ทานหมดในวัยทารก แต่มาถึงตอนนี้จะเริ่มปฏิเสธมากขึ้น ห่วงเล่น เห็นการเล่นเป็นเรื่องใหญ่ การทานอาหารเป็นเรื่องรอง คุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวเมื่อเห็นลูกทานน้อยก็กังวล กลัวลูกตัวเล็กจึง พยายามหาของกินอื่นๆ มาให้ลูกทาน ทำให้เกิดเป็นวัฏจักรที่แก้ไขได้ยาก คือ เมื่อลูกทานน้อย ก็ได้ทานนม ขนมหรืออาหารที่เด็กชอบคราวนี้เข้าทางเด็กๆ เลยค่ะ เด็กบางส่วนชอบดื่มนมมากกว่าอาหารเพราะง่าย เร็ว เล่นไปทานไปได้ ส่วนขนมก็เป็นของอร่อยสำหรับเด็กๆ อยู่แล้ว สุดท้ายการให้อาหารที่เด็กชอบก็จะกลายเป็นว่าเราได้ฝึกให้เด็กเลือกกินไปโดยปริยายค่ะ

ทั้งหมดนี้ทำให้เมื่อถึงเวลาอาหารมื้อถัดไปเด็กก็เรียนรู้ที่จะปฏิเสธเพื่อที่จะรอให้ได้ของที่ตัวเองขอบ เพราะเค้ารู้ว่าถึงไม่ทานตอนนี้ เดี๋ยวคุณพ่อคุณแม่จะหาอย่างอื่นที่เค้าชอบมาให้ทาน หลังจากนั้นวัฏจักรนี้ก็จะวนเวียนไปเรื่อยๆ นานวันยิ่งแก้ไขได้ยากค่ะที่สำคัญการที่เด็กทานซ้ำๆ ไม่หลากหลาย แม้จะทำให้เด็กไม่ขาดอาหารซึ่งทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจคลายความกังวลไป แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่คะว่าการทานซ้ำๆ จะทำให้เด็กเสี่ยงที่จะขาดสารอาหารได้ สารอาหารบางตัวมีผลต่อระดับไอคิวและการพัฒนาของสมองด้วย มิหนำซ้ำสารอาหารบางอย่างเมื่อขาดแล้วเรามาเร่งเสริมให้ภายหลัง ก็ไม่อาจทำให้พัฒนาการที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ด้วยค่ะ ทราบเช่นนี้แล้ว เรามาหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหานี้กันดีกว่านะคะ

รู้เท่าทัน จัดการเร็ว มีชัยไปกว่าครึ่ง
วัย 1-2 ปี นี้เป็นช่วงอายุที่เหมาะสมที่เราควรเริ่มฝึกวินัยการทานอาหารค่ะ การฝึกตั้งแต่ต้นจะย่อมดีกว่าเกิดปัญหาแล้วมาแก้ทีหลัง เพราะการแก้ไขยากกว่าการปลูกฝังตั้งแต่ตั้นหลายเท่ามากค่ะหลักการฝึกเรื่องการทานอาหารหมอไม่แนะนำให้บังคับหรือคะยั้นคะยอนะคะ เพราะวัยนี้เค้าชอบเป็นตัวของตัวเองอย่างที่หมอได้บอกไปข้างต้น และถึงเราจะบังคับเอาอาหารเข้าปากได้ เมื่อเด็กไม่เคี้ยวไม่กลืนทุกอย่างก็จบ หมอจึงแนะนำให้สร้างบรรยากาศการกินให้มีความสุขจะดีกว่าค่ะ วิธีการดังนั้นลองฝึกตามนี้ดูนะคะ

เริ่มตั้งแต่การเตรียมอาหาร อาหารบางอย่างถ้าให้เด็กช่วยทำได้ให้เค้ามาช่วยด้วยค่ะ ทั้งนี้เด็กบางคนจะอยากทานอาหารมากขึ้นเพราะอยากชิมฝีมือตัวเองค่ะ

แนะนำให้ทานอาหารพร้อมกับคนในครอบครัวแล้วทำบรรยากาศบนโต๊ะอาหารให้มีความสุขค่ะ ซึ่งจะดีกว่าการจัดให้เป็นเวลาเฉพาะเด็กแค่คนเดียวค่ะ เพราะเค้าอาจรู้สึกกดดัน เหงา และไม่สนุกได้ อีกทั้งการทานพร้อมกัน ยังเป็นโอกาสให้เด็กได้ดูผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างในการทานอาหารด้วยค่ะ

ปล่อยให้เด็กได้หยิบจับทานเอง เพื่อฝึกการช่วยเหลือและรับผิดชอบตัวเอง รวมถึงเด็กจะได้รู้สึกเป็นอิสระและได้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้นอีกด้วยค่ะ (ในกรณีที่เด็กอายุไม่เกิน 15-16 เดือน เค้าอาจจะยังตักอาหารไม่เก่ง ช่วงแรกผู้ใหญ่อาจช่วยป้อนไปด้วยบ้าง ร่วมกับการสอนเค้าตักไปด้วยก็ได้ค่ะ) แต่ผู้ใหญ่บางครอบครัวไม่ชอบวิธีนี้เพราะเด็กมักทำหกเลอะเทอะ ซึ่งหมอมักจะบอกคุณพ่อคุณแม่เสมอว่าการที่เด็กทำเลอะเทอะจะเป็นการเปิดโอกาสให้คณพ่อคุณแม่ได้ฝึกทักษะหลายๆ ด้านให้กับเด็กค่ะไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกก่อนซึ่งเด็กจะได้ฝึกสมาธิ ความพยายาม ความอดทน การแก้ไขปัญหาเพื่อจะทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกความรับผิดชอบในการแก้ไขในสิ่งที่ทำลงไป โดยการสอนให้เก็บอาหารที่ตกหลังจากทานอาหารเสร็จแล้ว และเมื่อเด็กต้องเก็บเองเด็กก็มักเรียนรู้ที่จะพยายามทานให้หกน้อยลงในคราวหน้าเพื่อจะได้ลดการเก็บอีกด้วยค่ะ ที่สำคัญเมื่อเด็กทำได้ดีแล้วคุณพ่อคุณแม่ชมเค้า เด็กจะเกิดความรู้สึกภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองซึ่งนำไปสู่การเพิ่มความมั่นใจในตัวเองด้วยค่ะ

ระยะห่างแต่ละมื้อควรจะห่างไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง เพราะถ้าใกล้กันเกินไป เด็กอาจจะไม่หิวทำให้ไม่อยากทานได้ค่ะและควรทานเป็นเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน ร่างกายจะเกิดความเคยชิน เกิดเป็นนาฬิการ่างกาย และหิวเป็นเวลาทำให้ฝึกได้ง่ายขึ้นค่ะ

เวลาทานอาหารไม่ควรดูสื่ออิเล็คทรอนิกส์หรือเล่นของเล่น เพราะจะดึงดูดความสนใจเด็กจากอาหาร ลดความอยากอาหารลงไป และทำให้เด็กอาจจะอมข้าว ซึ่งการอมข้าวจะทำให้เค้าทานได้ช้าลง รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น เป็นผลทำให้กินน้อยได้ค่ะ (หลักการเดียวกับคนลดความอ้วนที่แนะนำให้เคี้ยวช้าๆ ค่ะ)

ไม่ควรให้เลือกอาหาร (ยกเว้นโอกาสพิเศษ) ผู้ใหญ่ทานอาหารแบบไหนถ้าไม่รสเผ็ดหรือจัดจนเกินไปเด็กควรทานอาหารเดียวกันค่ะ แต่อาจทำให้ชิ้นเล็กลงเพื่อง่ายต่อการทานของเด็กและลดการเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร รวมถึงอาจตกแต่งรูปร่างหน้าตาให้ดึงดูดใจเด็ก เช่น ทำเป็นรูปหมี เติมตา จมูก หรือมีซอสมาให้เค้าแต่งเติมอาหารเด็กจะได้สนุกและเพิ่มความอยากทานมากขึ้นค่ะ

ให้โอกาสเด็กเลือกอุปกรณ์การทานได้ เพราะจะทำให้เค้ารู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้นค่ะ เช่น ถามว่าหนูจะเอาช้อนสีแดงหรือเขียว จานลายหมีพูห์หรือโดเรม่อน แต่ควรเลือกภายในขอบเขตที่เรากำหนดเท่านั้นนะคะ ซึ่งก็ไม่ควรเกิน2-3 แบบ เพราะถ้ามีให้เลือกมากเกินไปอาจทำให้เริ่มทานอาหารได้ช้าค่ะ

เวลาตักอาหารใส่จานเด็ก ควรตักให้ทีละน้อย แต่บ่อยๆถ้าเด็กทานหมดก็ชม วิธีนี้ดีกว่าตักให้ทีเดียวในปริมาณที่มากๆ เพราะบางครั้งเด็กเห็นว่าอาหารมากเกินไป ก็จะหมดกำลังใจในการพยายามจะทานให้หมดได้ค่ะ

เวลาทานอาหารควรนั่งทานอยู่กับที่ เพราะการเดินไปทานไปจะเสี่ยงต่อการสำลักได้ถ้าเด็กนั่งไม่นานก็ลุกจากที่ควรบอกเค้าว่าถ้าลุกแล้วเราจะเก็บ มาทานอีกไม่ได้แล้วต้องรอมื้อต่อไป ถ้าเค้าไม่กลับมาก็เก็บจริงค่ะ แต่ไม่ต้องดุ บ่น หรือด่าเค้านะคะ เพราะเค้าจะเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อการทานอาหาร หรืออีกกรณีเด็กอาจจะนั่งอยู่กับที่ก็จริง แต่อาจมัวแต่เล่น ไม่ค่อยตักอาหารเข้าปาก เมื่อทุกคนทานเสร็จหรือใช้เวลาทานนานเกินครึ่งชั่วโมงก็แนะนำให้เก็บเช่นกันค่ะ และให้รอทานมื้อต่อไป ระหว่างมื้อไม่ต้องให้อะไรทานทดแทนนะคะ

เลี่ยงการกินจุกจิก เพราะจะทำให้อิ่มและไม่ทานข้าวเมื่อถึงเวลารวมถึงไม่ควรตุนขนมหรืออาหารไว้ในที่เด็กหยิบทานเองได้ เพราะเด็กอาจไปหยิบทานระหว่างมื้อ ทำให้ลดความอยากอาหารในมื้อต่อไป

ที่สำคัญคือ ผู้ใหญ่ต้องใจแข็งค่ะ ถ้าเช้าไม่ทาน ก็รอเที่ยง เที่ยงไม่ทานอีกก็รอเย็นค่ะเมื่อเด็กหิวถึงเวลาเค้าจะทานเองและทานได้ดีด้วยค่ะ ยกเว้นกรณีเดียวที่เด็กจะไม่ทานเวลาหิวคือตอนป่วยเท่านั้นค่ะ ซึ่งการฝึกแบบนี้เป็นการทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องความหิว เพื่อเป็นการฝึกความรับผิดชอบตัวเองแต่หมอก็ไม่ได้ใจร้ายปล่อยให้หิวจนเกินไปนะคะ หมอแนะนำว่า ช่วงที่ฝึกเรื่องการทานอาหาร อาจดื่มนมได้ 2 มื้อค่ะ (มื้อละประมาณ 180-240 ซีซี) เวลาที่แนะนำคือมื้ออาหารว่าง (ประมาณบ่ายแก่ๆ) และมื้อหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอนก็พอค่ะเพราะช่วงเช้าถึงเที่ยงเวลาทานมักห่างกันไม่มาก แต่เที่ยงถึงเย็นเวลามักจะห่างกันนานจึงให้ดื่มนมรองท้องส่วนมื้อเย็นถ้าทานน้อยเราก็ยังมีนมให้ดื่มหลังจากนั้นอีก 1 มื้อค่ะเมื่อทานเก่งแล้ว จะเพิ่มให้อีกมื้อ รวมเป็น3 มื้อก็ได้ค่ะ แต่ไม่ควรมากเกินไปกว่านี้ในเด็กเล็ก เพราะจะทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็กที่ทานเก่ง ส่วนเด็กที่ทานไม่เก่งก็จะทานข้าวได้น้อยค่ะ

เทคนิคเพิ่มเติม
-  อาหารว่างในวัยนี้ทานได้ 1-2 มื้อ คือมื้อสายและบ่ายๆ (พร้อมกับนมมื้อบ่าย) แต่แนะนำให้เริ่มอาหารว่างเมื่อเด็กทานอาหารได้มากแล้วค่ะและควรให้ทานแค่พอหายอยาก ระวังอย่าทานมากเกินไปจนอิ่มเพราะจะทำให้ทานอาหารลดลงได้ค่ะ

-  หลายๆ ครอบครัวทำตามที่หมอแนะนำแต่ยังไม่เห็นว่าได้ผลเท่าที่ควร หมอจึงแนะนำเพิ่มเติมว่าควรให้เด็กได้ทำกิจกรรมประเภทออกกำลังกายเพื่อทำให้เค้าเหนื่อย เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ เช่น วิ่งเล่น กระโดดว่ายน้ำเป็นต้น เนื่องจากการใช้พลังงานมากขึ้นจะเป็นการกระตุ้นให้หิวได้ แต่การเล่นให้เหนื่อยของเด็กไม่เท่ากับผู้ใหญ่เหนื่อยนะคะ เพราะเด็กเป็นวัยที่พลังงานมากเหลือล้น บางครั้งผู้ใหญ่เหนื่อยไป 2-3 คนเด็กยังไม่เหนื่อยเลยค่ะแต่ถ้าครอบครัวไหนทำให้เด็กเหนื่อยได้รับรองทานมากขึ้นทุกคนเลยค่ะ

ทั้งหมดนี้กุญแจหลักในการฝึกคือความหนักแน่นและสม่ำเสมอของ ผู้ปกครองซึ่งถ้าฝึกได้ตั้งแต่ต้น จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายไปได้ยาวเลยค่ะ หมอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ครอบครัวให้ทำให้สำเร็จนะคะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้