สอนลูกให้ “รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย” ของผู้อื่น

Last updated: 19 ก.พ. 2565  | 


เนื่องจากสังคมยุคปัจจุบันเปิดกว้างในทุกมิติ ทั้งการสื่อสาร การแสดงออกทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข้อความ ภาพถ่าย วิดีโอ รวมไปถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ทุกอย่างล้วนง่ายดายรวดเร็วและมีอิสระ
.
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การแสดงออกเหล่านั้นอยู่ในขอบเขตและไม่ก่อให้เกิดปัญหา คือการยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน…
.
สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นั่นคือ "การรับฟัง ยอมรับความคิดเห็น และความแตกต่างของคนอื่น" เพราะทุกสังคมย่อมประกอบด้วยความหลากหลาย ทั้งเพศ วัย เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม จึงไม่แปลกที่ความหลากหลายเหล่านี้ ย่อมย่อมก่อให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป
.
มาค่ะ... มาสอนลูกให้รู้จักรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลายของผู้อื่นกันค่ะ

  ข้อดีของการรับฟังความคิดเห็นหรือการแสดงออกทางความคิดของคนอื่น

1. ได้เรียนรู้ข้อมูลและเหตุผลของอีกฝ่าย ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองต่อสิ่งนั้นของเราให้กว้างขึ้น
2. การฟัง เป็นการฝึกความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นของตนเองด้วยเหตุผล
3. ช่วยฝึกความอดทนที่จะไม่โต้แย้งด้วยอารมณ์ และยังเป็นการร่วมกันหาข้อสรุป หรือหาทางออกที่ดีให้กับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น

 

  การสอนลูกให้รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ต้องเริ่มจาก

1. พ่อแม่ต้องรับฟังสิ่งความคิดเห็นของลูก หรืออธิบายสิ่งที่ลูกทำลงไปด้วยเหตุผล และต้องไม่พูดแทรก ไม่ด่วนสรุป ไม่ด่วนตัดสินว่าผิดหรือถูก ข้อนี้จะทำให้พ่อแม่ได้รับรู้ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของลูกได้ด้วย
2. ต้องฟังอย่างตั้งใจ ไม่เล่นโทรศัพท์ ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ชวนเปลี่ยนเรื่อง หรือแสดงท่าทีเบื่อหน่าย
3. เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

  วิธีการทำให้ลูกแสดงความคิดเห็น
1. คุณพ่อคุณแม่อาจใช้คำถามปลายเปิด เพื่อให้ลูกตอบคำถาม แสดงความคิดเห็น หรืออธิบายเรื่องต่างๆ อย่างเต็มที่ เช่น สิ่งที่แม่พูดไปลูกไม่เข้าใจตรงไหน? หรือ อะไรทำให้ลูกคิดแบบนั้น?
2. หลังจากที่ลูกได้ตอบคำถามหรือแสดงความคิดเห็นแล้ว พ่อแม่อาจเป็นฝ่ายพูดอธิบายความคิดและเหตุผลต่อเรื่องนั้นๆ บ้าง ซึ่งจะช่วยฝึกให้ลูกเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี

--

นอกจากนั้น พ่อแม่สามารถสอนลูกได้จากความคิดเห็นที่แตกต่างกันของกลุ่มคนที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ซึ่งมีทั้งตัวอย่างที่ดีและไม่ดี โดยไม่จำเป็นต้องว่ากล่าวบุคคลที่ใช้ข้อความ คำพูด หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมว่าเป็นคนไม่ดี แต่ให้อธิบายกับลูกว่า

“หากไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เอาแต่ความคิดตนเองเป็นใหญ่ ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล อาจทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่โตบานปลาย ทั้งที่ความจริงแล้วเราสามารถเรียนรู้จากความคิดของกันและกัน หาคำตอบหรือข้อสรุป และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”

พักสายตา ... ฟังบทความนี้แบบ Audiobook คลิก

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้