Last updated: 20 พ.ค. 2565 |
สำหรับเด็กเล็กแล้ว การเริ่มต้นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายเรื่องนะคะ สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องท้าทายของพวกเค้าเลยคือการไปโรงเรียน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของลูกน้อยเลย ก็คงไม่ผิด!!! เพราะในโรงเรียนลูกน้อยของเราจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในนั้นด้วยตัวเอง เรียนรู้และเติบโตด้วยตัวเอง ฉะนั้นเรามาเริ่มการเตรียมตัวไปโรงเรียนให้กับลูกกันค่ะ
1. เตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนมีความจำเป็นแค่ไหน
หากเราอยากให้ราบรื่นมากที่สุดควรมีระยะเตรียมความพร้อมของเด็กก่อนเข้าเรียนด้วยค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่ไม่เคยไปเรียนเตรียมอนุบาลหรือเข้าศูนย์เด็กเล็กมาก่อน สิ่งนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตของเค้าเลย เพราะต้องเด็กต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงทั้งที่อยู่ ผู้ดูแล สภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิต ในเด็กที่ปรับตัวง่ายอาจไม่ค่อยมีปัญหา แต่ในเด็กที่ปรับตัวยากอยู่แล้ว การไม่ได้เตรียมพร้อมตัวเด็กและให้เด็กไปเผชิญทุกๆสิ่งที่โรงเรียนเอง อาจทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งอาจส่งผลหลายอย่างตามมาได้ค่ะ เช่น หงุดหงิดง่าย ติดพ่อแม่มากขึ้น พฤติกรรมถดถอย เรียกร้องความสนใจ เป็นต้น
เพื่อเป็นการป้องกันหรือลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการปรับตัวเข้าโรงเรียน มีข้อแนะนำดังนี้
ทักษะที่ต้องใช้เวลาเตรียมตัว นอกเหนือจากพัฒนาการที่สมวัยแล้ว ทักษะต่างๆ ที่จะกล่าวถึงนี้เด็กควรได้รับการฝึกควบคู่กันไปด้วยซึ่งมักต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวส่วนระยะเวลาที่ใช้ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระดับพัฒนาการของเด็ก ความสม่ำเสมอในการฝึก การปรับตัวของเด็กว่าเป็นเด็กปรับตัวง่ายหรือยาก เป็นต้น ซึ่งทักษะมีดังนี้
ทักษะการช่วยเหลือตัวเองตามวัย : การคิดว่า “ยังไม่ต้องฝึกก็ได้ ไปโรงเรียนเดี๋ยวครูก็ฝึกให้เอง” บางครั้งจะกลับเป็นการผลักภาระให้ลูกเราเองนะคะ เพราะ แทนที่ลูกจะได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อย่างสนุกสนานพร้อมเพื่อน กลับต้องมาพะว้าพะวงกับการฝึกที่เพื่อนคนอื่นทำได้หมดแล้ว นอกจากนี้เด็กที่ได้รับการฝึกการช่วยเหลือตัวเองไปอย่างดีแล้วจากที่บ้าน ยังมีส่วนทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง พร้อมที่จะเรียนรู้และสำรวจสิ่งใหม่ๆ ปรับตัวได้ง่าย เพราะบางสิ่งที่ต้องทำที่โรงเรียนก็เหมือนที่เคยทำมาแล้วจากที่บ้าน ไม่ใช่ทุกอย่างใหม่ไปหมดสำหรับเด็กค่ะ ทั้งนี้ทักษะการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นที่ควรมี คือ การรับประทานอาหารเอง การเลิกขวดนม การบอกเข้าห้องน้ำรวมถึงเข้าห้องน้ำเอง (แต่อาจต้องการความช่วยเหลือเรื่องความสะอาดบ้าง) ทักษะการแต่งตัวง่าย ๆ เช่น ใส่ - ถอด กางเกงขาสั้น เสื้อยืด ถุงเท้า เป็นต้น
ทักษะการเข้าสังคมกับวัยเดียวกัน : การเข้าสังคมกับวัยเดียวกันจะแตกต่างจากการที่เด็กเล่นกับผู้ใหญ่ เพราะการเล่นกับคนที่อายุมากกว่า ผู้ใหญ่หรือเด็กโตจะมีแนวโน้มยอมตามเด็ก ทำให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเล่นได้ และรู้สึกว่าทุกคนต้องทำตามที่เค้าต้องการ แต่การเล่นกับวัยใกล้กันส่วนใหญ่เด็กจะไม่ค่อยยอมกัน หรือบางอย่างก็ยังไม่เข้าใจกันและกัน ทำให้มีเรื่องผิดใจกันได้ง่ายกว่าค่ะ ดังนั้นหากเป็นไปได้ก่อนเข้าโรงเรียน เด็กควรได้มีโอกาสเล่นกับเด็กคนอื่นเป็นเป็นประจำ เช่น การไปสนามเด็กเล่น ไปพบญาติๆ ที่อายุใกล้เคียงกัน เพื่อผู้ปกครองจะได้สังเกตการเข้ากลุ่มของเด็ก และค่อยๆ สอนทักษะการเข้าสังคมที่ดีให้แก่เด็ก เช่น การรอคอย การแบ่งปัน การรับฟังผู้อื่น เป็นต้น
ทักษะเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเรียน : ทักษะพื้นฐานที่เด็กควรมีเช่น ทำกิจกรรมที่เหมาะกับวัยได้ด้วยตัวเอง ทำตามกฎระเบียบเล็กๆ น้อยๆได้ ทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ได้ดี สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ตามวัย มีความมั่นใจ ชอบสำรวจและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ด้วยตัวเองหรือภายใต้คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ใหญ่ เป็นต้น
2. เลือกโรงเรียนให้ลูกต้องดูอะไรบ้าง
ประการแรก คุณพ่อคุณแม่คงต้องถามตนเองว่า เราต้องการโรงเรียนแนวไหนสำหรับลูก แนวเตรียมความพร้อม หรือแนววิชาการที่เน้นอ่านเขียน หลังจากนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็คงต้องลองเข้าไปเยี่ยมชมโรงเรียน โดยอาจเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงานคุณพ่อคุณแม่เพื่อสะดวกแก่การเดินทางในการรับ-ส่งลูก ในการพิจารณาเลือกโรงเรียนให้ลูก คุณพ่อคุณแม่คงจำเป็นต้องดูนโยบายของโรงเรียนว่า มีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร เน้นให้เด็กได้ทดลอง และลงมือปฏิบัติจริงหรือไม่ เปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระในการเลือกทำกิจกรรมต่างๆหรือเปล่า สภาพแวดล้อมในโรงเรียนเป็นอย่างไร โรงเรียนมีสนามหญ้าสำหรับให้เด็กวิ่งเล่นหรือไม่ ความปลอดภัย รวมตลอดถึงขนาดของห้องเรียน จำนวนเด็ก จำนวนครูผู้สอน และโภชนาการของโรงเรียน ถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้มีโอกาสเดินเยี่ยมชม และสังเกตการเรียนการสอนของโรงเรียนก็จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นภาพพจน์ของโรงเรียนได้ดียิ่งขึ้น
3. ลูกร้องไห้เมื่อไปโรงเรียนครั้งแรก ต้องทำอย่างไร
การที่เด็กร้องไห้เมื่อต้องจากบ้านเพื่อไปโรงเรียนเป็นครั้งแรกคงไม่ใช่เรื่องแปลก ทั้งนี้เนื่องจากเด็กต้องจากสภาพแวดล้อม และบุคคลที่คุ้นเคยไปสู่สภาพแวดล้อมใหม่ และบุคคลที่ไม่รู้จัก เด็กต้องการเวลาในการปรับตัว และทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ คุณพ่อคุณแม่อาจมีการเตรียมตัวลูกในการไปโรงเรียนครั้งแรกโดยการพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับคุณครู เพื่อน และโรงเรียน ขณะเดียวกัน ก็ควรให้ความมั่นใจกับลูกว่า ในช่วงเย็นก็ต้องพบกันอีก ในช่วงแรกๆที่ลูกยังไม่คุ้นกับโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรมารับลูกกลับบ้านเร็วนิดหนึ่ง ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่โรงเรียนนานเกินไปเพราะลูกอาจกลัวการถูกทอดทิ้ง ถ้าลูกร้องไห้ตอนที่คุณพ่อคุณแม่ไปส่ง ควรต้องใจแข็ง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณครูในการดูแลลูก อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนอาจใช้เวลาในการปรับตัวไม่เท่ากัน บางคนใช้เวลามาก บางคนใช้เวลาน้อย คุณพ่อคุณแม่คงต้องอดทน และใจเย็นนิดหนึ่ง
4. ลูกติดของเล่น ควรให้ลูกนำของเล่นติดกระเป๋าไปที่โรงเรียนด้วยหรือไม่
คุณพ่อคุณแม่คงจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบของชั้นเรียนดูก่อนว่า ทางโรงเรียนอนุญาตให้เด็กนำของเล่นติดตัวไปเล่นที่โรงเรียนหรือไม่ ถ้าทางโรงเรียนไม่อนุญาต คุณพ่อคุณแม่ควรต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจ แต่ถ้าทางโรงเรียนอนุญาต คุณพ่อคุณแม่ควรต้องพูดคุยกับลูกว่า ถ้าลูกนำของเล่นไปเล่นที่โรงเรียน ลูกต้องแบ่งให้เพื่อนเล่นด้วย ขณะเดียวกัน ของเล่นอาจพัง หรือหายได้ ทั้งนี้เพื่อให้ลูกสามารถจินตนาการถึงผลที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งของที่ตนรักเพื่อจะได้ตัดสินใจได้
พักสายตา ฟังบทความนี้ใน Audiobook คลิกเลยค่ะ
19 พ.ค. 2566
23 ส.ค. 2567