Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่ มักจะประสาทเสียกับเสียงร้องของลูกน้อยวัยแบเบาะ แหม! ก็เจ้าตัวเล็กวันๆ เอาแต่ร้องไห้ จะหิว จะอึ จะฉี่ ก็ร้อง.. ร้อง... ตลอด แล้วเสียงร้องเนี้ย.. ก็ไม่ได้มีโทนเสียงที่แตกต่างกันให้พอจะเดาความหมายได้เลยว่า ต้องการอะไรกันแน่!! กว่าจะเดาได้แต่ละครั้ง ก็เล่นเอาใจเสียแทบแย่
แต่อย่าเพิ่งเป็นกังวลกันไปค่ะ.. เรามีวิธีง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถนำไปใช้จัดการสยบกับเสียงร้องของเจ้าตัวน้อยได้อย่างชนิดติดเบรกเลยทีเดียว
Step by step
1. แง แง แม่จ๋าอยู่ไหน – ถ้าได้ยินเสียงร้องปุ๊บ อันดับแรกเลย ให้คุณส่งเสียงขานรับออกไปให้เขาได้ยินก่อน บอกให้เขาอุ่นใจว่า คุณอยู่ใกล้ๆ และกำลังจะมาดูแลเขาเดี๋ยวนี้แล้ว
2. ไม่อึ ก็ฉี่แหงๆ – อันดับต่อมา ลองคลำดูว่าก้นเจ้าตัวน้อยเปียก หรือมีอะไรอุ่นๆ ตุงอยู่ที่ผ้าอ้อมหรือเปล่า เพราะอึกับฉี่ เป็นสาเหตุฮิตติดอันดับที่ทำให้ลูกน้อยของคุณไม่สบายตัว จนต้องส่งเสียงร้องบอกให้คุณได้รู้ เพื่อมาจัดการกับมันซะ
3. หิวแล้วจ้า – ถ้าคลำดูแล้วก้นไม่เปียก ก็ลองใช้นิ้วเขี่ยๆ ที่แก้มของเขาเบาๆ หากเจ้าหนูมีปฏิกิริยาตอบสนอง หันหัวมาทางคุณแล้วตั้งท่าดูดจ๊วบๆ นั่นแสดงว่าเขาหิวแล้วล่ะ
4. ถ้าไม่ร้อน ก็หนาว – สังเกตดูว่าบริเวณใบหน้าของเจ้าหนูมีเหงื่อผุดอยู่เต็มไหม หรือจับดูว่าเท้าของเขาเย็นๆ หรือเปล่า ถ้าใช่ก็รีบปรับอุณหภูมิให้เขาซะ เสร็จแล้วก็กล่อมให้หายหงุดหงิดสักหน่อย เดี๋ยวก็หลับปุ๋ยไปเอง
5. หนูเครียดจัง – โลกใบกว้างนี้ บางครั้ง ก็ทำให้ลูกน้อยของคุณรู้สึกอ้างว้าง และอัดอั้นอยู่ภายในได้เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ บางเวลา เขาจึงร้องไห้ขึ้นมาเพียงเพราะต้องการปลดปล่อยความรู้สึกคับข้องออกมา ถ้าคุณอุ้มเขาขึ้นมากล่อมแล้วเขายังร้องไม่หยุด ลองเปลี่ยนสลับท่าอุ้มบ่อยๆ หรือพาออกไปเดินเล่นข้างนอกสักพัก ถ้ายังไม่เป็นผล ก็ลองผลัดเปลี่ยนให้คุณพ่อมาช่วยอุ้มบ้าง คุณจะได้ไม่รู้สึกเครียดจนเกินไปนะคะ
สิ่งที่เจ้าหนูได้เรียนรู้
- การตอบสนองเสียงร้องของเจ้าหนูในทันที ด้วยการส่งเสียงบอกให้เขารู้ว่าคุณยังอยู่ใกล้ๆ แล้วทิ้งระยะสักครู่จึงค่อยเข้าไปดูแลเขา จะช่วยให้ลูกน้อยได้เรียนรู้วิธีการสื่อสาร และการรอคอย เขารู้ว่า ถ้าเขาร้องคุณจะมา ช้าเร็วบ้าง แต่ที่สุดคุณก็จะมาดูแลเขาในเวลาไม่นานนัก
- ในเวลาที่คุณปลอบโยนลูกน้อย ให้เขารู้สึกผ่อนคลาย และสบายตัวขึ้น เช่น โอบกอดเขาไว้ ร้องเพลงเบาๆ กล่อม เจ้าหนูจะจดจำวิธีการเหล่านี้ แล้วค่อยๆ เลียนแบบมาใช้กล่อมตัวเอง ในยามที่คุณติดภารกิจ แล้วมาไม่ทันตามความต้องการของเขา
- ความเอาใจใส่ดูแลด้วยความรักของคุณ ในทุกครั้งที่ลูกน้อยร้องหา จะทำให้เขารู้ว่าเขาสามารถอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างปลอดภัย เพราะคุณจะคอยดูแลปกป้องเขาไว้ตลอดเวลา ความรู้สึกอบอุ่นใจที่ได้รับสะสมนานวันเข้า จะทำให้เจ้าหนูเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง
10 ต.ค. 2566
29 ก.ย. 2566