Last updated: 23 มิ.ย. 2562 |
ความเชื่อมั่นที่คุณแม่ได้หย่อนเมล็ดพันธุ์ให้กับลูกไว้เมื่อครั้งยังเป็นเบบี๋อยู่นั้น ได้สร้างเจ้าหนูที่กระตือรือร้น ใฝ่รู้ และกล้าลองไปเสียทุกอย่าง เด็กน้อยไม่ยั้งคิด ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น นั่นเพราะเขายังด้อยประสบการณ์ที่จะคาดคิด และเชื่อมั่นว่าคุณจะสามารถดูแลเขาได้อย่างแน่นอน
การได้ลองผิดลองถูกในแต่ละวัน ทำให้เขามีประสบการณ์มากขึ้น คุณควรดูแลให้เขาได้รับประสบการณ์ที่ดี ที่จะสร้างเสริมความเชื่อมั่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ความรัก และการดูแลอย่างใกล้ชิด จะทำให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ไม่ยากนัก
ประสบการณ์ และการเรียนรู้จะค่อยๆ ปรับพฤติกรรมของเจ้าหนูให้เด่นชัดเป็นบุคลิกที่แสดงออกถึงลักษณะนิสัยของเขาเอง ในช่วงเวลา 3 ขวบปีแรก จึงถือเป็นช่วงเวลาแรกของการเพาะความเชื่อมั่นให้มีความกล้าเป็นบุคลิกติดตัวไปจนโต
ความรู้ด้านพัฒนาการเด็ก และความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกน้อย จะช่วยให้คุณแม่สร้างสรรค์แนวทางในการเลี้ยงดู ให้เขาได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ดีในการเรียนรู้ เพื่อเพาะปลูกความกล้าให้เจ้าตัวเล็กวัยเตาะแตะเป็นรากฐานสู่ความกล้าเก่งในวันหน้า
เข้าใจพฤติกรรมลูกน้อย
พัฒนาการที่เพิ่มทักษะการเคลื่อนไหว และประสาทการรับรู้ที่ดีขึ้น ทำให้ลูกวัยเตาะแตะเริ่มต้นการเรียนรู้ของตัวเองด้วยการทดลองจากประสบการณ์จริง พฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นที่แสดงออกมาในลักษณะของความซุกซนตามความเข้าใจของผู้ใหญ่ ถือเป็นจุดแรกเริ่มของความหาญกล้าที่เจ้าหนูโชว์ออกมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็น เสียแต่ว่าหลายครั้งความหาญกล้านั้น ก็สร้างความหวาดหวั่นให้กับพ่อแม่ ด้วยเกรงว่าลูกน้อยจะได้รับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากความไร้เดียงสา
บ่อยครั้ง เสียงดุ ขู่ ห้ามปรามด้วยเสียงตกใจอันดังของผู้เป็นพ่อแม่ ทำให้เจ้าหนูพลอยตกใจ และหยุดชะงักการกระทำนั้น โดยไม่รู้ความหมายที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจะบอกกับเขา และยังเป็นผลให้กระบวนการเรียนรู้ของเจ้าหนูหยุดสะดุดลงไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ สมองน้อยๆ ของเจ้าหนูจะบันทึกเหตุการณ์นี้ เป็น ความหมายในทางลบที่ผลักไสให้เจ้าหนูเกิดความขยาดที่จะลองสัมผัสเพื่อเรียนรู้อย่างถูกต้องอีกครั้ง และ บ่อยครั้งความกล้าหาญอย่างไร้เดียงสา เพราะขาดประสบการณ์ในการไตร่ตรองถึงผลร้ายที่ตามมาก็เป็นสาเหตุสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดี ที่จะทำให้เขาขาดความเชื่อมั่น ในการพัฒนาความกล้าเก่ง
เทคนิคเสริมความกล้าให้เจ้าหนู
ความจริงแล้ว.. ลูกน้อยมีสัญชาตญาณของความกล้าเก่งแต่ตั้งเล็กๆ เมื่อกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายแข็งแรงขึ้น ธรรมชาติจะกำหนดให้เขากระตือรือร้นที่จะควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อใช้งานอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นการฝึกฝนทักษะให้เพิ่มขึ้น เหตุผลนี้เองที่ทำให้เขาซุกซนอยู่ตลอดเวลา ในสายตาของคุณ
การห้ามปราม หรือเข้าช่วยเหลือลูกอยู่ตลอดเวลา เป็นพฤติกรรมที่จะทำให้พัฒนาการกล้าเก่งของเจ้าหนูหยุดชะงักลงได้ ดังนั้น คุณควรดูแลให้เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยตัวของเขาเอง โดยมีคุณเฝ้าดูอยู่ห่างๆ จะดีกว่า เปิดโอกาสให้เขาได้ภูมิใจในความสำเร็จของตัวเอง แล้วเขาจะค่อยๆ เรียนรู้ถึงความสามารถของตัวเอง และเคารพในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหนูเริ่มมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว หยิบ จับ เดิน วิ่งได้แล้ว ความซุกซนของเขาอาจเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดประสบการณ์ไม่ดีที่จะฝังใจเขาจนกลายเป็นปมขวางพัฒนาการกล้าเก่งได้เช่นกัน
ในกรณีนี้ คุณมี 2 วิธีในการดูแลเขาค่ะ
1.ป้องกันเจ้าหนูจากอันตราย ดูแลเขาอยู่ห่างๆ เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์ทำท่าไม่ดี หรืออาจเกิดอันตรายกับเขาขึ้นแน่ ให้พาเขาออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้น เช่น อุ้มเขาออกมาจากริมฟุตบาธ, พาเขาออกมาจากครัว
2.เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเขา เข้าไปโอบกอด และปลอบโยนเขาในทันที บอกให้เขารู้ว่าเหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าหากเขาประมาท และในครั้งหน้าถ้าเขาระวังมากขึ้น เหตุการณ์แบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เช่น เขาขี่จักรยานชนประตูรั้วบ้านแล้วล้ม เข่าถลอก หลังจากเข้าไปปลอบโยน และทำแผลให้กับเขาแล้ว ให้คุณกอดเขาแล้วอธิบายให้เขาฟังว่า ถ้าในครั้งหน้าเขาไม่ขี่จักรยานเร็ว และระวังมากกว่านี้ เขาก็จะไม่ล้มจนเข่าถลอกเจ็บได้
ของเล่นเสริมพัฒนาการกล้าเก่ง
วัยหนึ่งขวบ ของเล่นลากจูง ช่วยให้ลูกได้ฝึกพัฒนาการการเคลื่อนไหวได้ดี เขาจะใช้มือกำเชือก เพื่อลากของเล่นให้เคลื่อนที่ตามเขาไป
วัยสองขวบ จักรยานสามล้อจะช่วยให้กล้ามเนื้อขาของเขาแข็งแรงขึ้น แม้เจ้าหนูยังถีบไม่เป็น แต่เขาก็ใช้สองขาถีบพื้นเพื่อดันตัวรถไปข้างหน้าได้ค่ะ
วัยสามขวบ ของใช้เก่าๆ จะเป็นของเล่นที่เสริมจินตนาการของเจ้าหนูวัยนี้ได้ดี เขาจะใช้ความคิดเพื่อดัดแปลงของใช้นั้นให้เป็นของเล่นตามจินตนาการของเขาเอง
23 ส.ค. 2567
20 ก.พ. 2566
10 ต.ค. 2566