คุณรู้จักโคลิค... ดีแค่ไหน?

Last updated: 23 มิ.ย. 2562  | 

โคลิคเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์- 3 เดือน โดยเจ้าตัวน้อยจะร้องไห้มากจนตัวงอและร้องนาน จนทำให้พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเกิดความเครียดและวิตกกังวลว่าลูกไม่สบายอะไรหรือเปล่า ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะแยกการร้องโคลิคกับการร้องไห้เพราะเจ็บป่วยทั่วไป ได้จากเวลาที่ร้องไห้ในแต่ละวัน

กล่าวคือ....
ทารกที่ร้องโคลิคจะร้องไห้มากในช่วงเย็นจนถึงหัวค่ำเป็นเวลาเดียวกันทุกวันไปตลอด 3 เดือนแรกของชีวิตหลายคนจึงรู้จักกับอาการโคลิคในอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า อาการร้อง 3 เดือนนั่นเอง เชื่อกันว่าอาการร้องโคลิคของลูกอาจเกิดจากการปวดท้อง ไม่สบายท้องของเจ้าตัวน้อยก็เป็นได้

ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ ระบุว่า โคลิก เกิดได้ประมาณ 8-40% ของเด็กเล็ก และที่น่าสังเกตคือ พบบ่อยในครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมสูง เป็นบุตรของพ่อแม่ที่มีอายุมาก เกิดในครอบครัวที่มีลูกน้อยคน และ ในพ่อแม่มีการศึกษาสูง

ปรับพฤติกรรมการกินแม่ ลดโคลิคลูก 
ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารแพทย์ ประเทศสหรัฐฯ ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 2005 ระบุว่า การที่คุณแม่หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดอาการแพ้ จะช่วยลดการร้องโคลิคของลูกในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังคลอดได้

โดยการวิจัยชิ้นดังกล่าว ได้ทำการศึกษาหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำนวน 90 ราย ซึ่งทุกรายต่างมีลูกที่ร้องโคลิคอย่างชัดเจน นักวิจัยได้แบ่งคุณแม่เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้งดอาหารอันได้แก่ ไข่ นมวัว ถั่ว ข้าวสาลี ถั่วเหลืองและปลา ขณะที่อีกกลุ่มรับประทานอาหารต่างๆ ได้ปกติ หลังจากครบกำหนดการทดลอง ทารก 75% ในกลุ่มที่แม่งดอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ร้องไห้ลดลงถึง 25% ขณะที่เพียง 37% ของทารกที่แม่รับประทานอาหารตามปกติมีการร้องไห้ลดลง จากการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าอาหารกลุ่มเสี่ยงที่แม่รับประทานเข้าไป เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาอาการร้องโคลิคของทารกที่กินนมแม่

อย่างไรก็ตาม....
นักวิจัยแนะนำว่า แม่หลังคลอดที่ให้นมลูก ไม่ควรงดอาหารใดๆ โดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์ เพราะการงดอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยได้ ดังนั้นหากสงสัยว่าลูกอาจแพ้อาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไป ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการ เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารชนิดอื่นที่สามารถทดแทนสารอาหารที่ขาดไป

นอกจากนี้ การศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐฯ ที่เผยแพร่ผ่าน Michigan State University Extension แนะนำเคล็ดลับการกินสำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารของคุณแม่อาจช่วยลดอาการโคลิคของลูกได้ โดยสิ่งที่คุณแม่ควรทำได้แก่

กินอาหารอย่างน้อย 3 มื้อต่อวัน โดยมีของว่างระหว่างมื้อ ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้ดหนึ่ง และหลีกเลี่ยงอาหาร เครื่องดื่ม ที่มีคาเฟอีน เช่น ช๊อคโกแลต ชา กาแฟ น้ำอัดลม พร้อมทั้งดื่มน้ำเปล่ามากๆ หากคุณรู้สึกกระหายน้ำแสดงว่าคุณดื่มน้ำไม่มากพวกหากใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการว่ารับประทานวันละเท่าใดจึงปลอดภัยและไม่ส่งผลต่อลูก

- ลดน้ำหนักหลังคลอดอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าเคร่งครัดในเรื่องการจำกัดแคลอรี่
- ทารกบางรายอาจร้องไห้งอแงเมื่อคุณแม่รับประทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น บล็อกโคลี กระหล่ำปลี ถั่ว หากสังเกตว่าลูกมีอาการหลังจากคุณรับประทานอาหารดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้
- อาหารบางอย่างที่คุณแม่รับประทาน อาจส่งผลให้ลูกมีอาการแพ้ได้ เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว หรือแป้งสาลี หากหลังจากรับประทานอาหารเหล่านี้แล้วพบว่าลูกมีอาการแพ้ควรหลีกเลี่ยงหรืองดอาหารเหล่านี้ไปก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้