การ ‘ร้องไห้’ ช่วยปรับร่างกาย สภาพจิตใจ และสภาวะอารมณ์ให้กลับสู่สมดุลได้

Last updated: 8 มี.ค. 2565  | 



ในแต่ละปีร่างกายของคนเราผลิตน้ำตาออกมากว่า 55-110 ลิตร นอกจากน้ำตาที่ไหลออกมาจากความรู้สึกต่าง ๆ แล้ว ดวงตายังผลิตน้ำตาชนิดอื่น ๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. Basal tears น้ำตาหล่อลื่น 

2. Reflex tears น้ำตาระคายเคือง 

3. Emotional tears น้ำตาจากอารมณ์ 

 

 Basal tears น้ำตาหล่อลื่น เป็นน้ำที่อยู่ในดวงตาตลอดเวลา คอยสร้างความหล่อลื่น บำรุงและปกป้องกระจกตา

 Reflex tears น้ำตาระคายเคือง
จะถูกสร้างขึ้นก็ต่อเมื่อดวงตาต้องการขจัดสารก่อความระคายเคืองที่เป็นอันตราย เช่น วัตถุแปลกปลอม ควัน หรือสารบางชนิดจากหัวหอม ซึ่งจะมีปริมาณที่มากกว่าน้ำหล่อเลี้ยงตาปกติ และอาจประกอบด้วยสารภูมิต้านทานเพื่อใช้ช่วยต่อสู้กับแบคทีเรีย

 Emotional tears น้ำตาจากอารมณ์
คอยตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น เสียใจ ดีใจ หวาดกลัว เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดว่าน้ำตาจากอารมณ์อาจประกอบด้วยฮอร์โมนและโปรตีนชนิดอื่น ๆ ที่ไม่พบในน้ำหล่อเลี้ยงตาหรือน้ำตาจากสิ่งเร้าภายนอก

 

น้ำตาจากอารมณ์หรือการร้องไห้ เกิดจากอะไร ?

นักจิตวิทยาเชื่อว่าน้ำตาที่เกิดขึ้นจากอารมณ์หรือการร้องไห้ของมนุษย์ พัฒนามาจากการส่งเสียงร้องของสัตว์ เช่นเดียวกับทารกซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังไม่มีการพัฒนาต่อมน้ำตาขึ้นอย่างสมบูรณ์ และไม่สามารถผลิตน้ำตาออกมา แต่ก็ส่งเสียงร้องไห้เพื่อเรียกร้องการดูแลและความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ได้

การได้รับความเจ็บปวดทางกายเป็นสาเหตุหนึ่งของการร้องไห้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่คนส่วนใหญ่จะเริ่มตอบสนองต่อการเจ็บปวดทางกายด้วยการร้องไห้น้อยลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ในขณะเดียวกันอารมณ์ที่ส่งผลให้ร้องไห้ก็หลากหลายขึ้นเช่นกัน จากการเจ็บปวดทางกายไปสู่ความเจ็บปวดจากการต้องสูญเสียสิ่งของหรือบุคคลที่ใกล้ชิดผูกพัน การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความสงสาร ความเจ็บปวดจากการมีชีวิตในสังคม ความอ่อนไหวทางอารมณ์ หรือแม้แต่ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

การร้องไห้ไม่เพียงเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ต่อความเศร้าหรือความเจ็บปวด แต่อาจเป็นการร้องไห้ที่ตอบสนองต่อความสวยงาม ความสุข ความสมหวังก็ได้ หรือบางคนอาจร้องไห้ในบางสถานการณ์ ในขณะที่คนอื่นไม่ร้อง เช่น พิธีจบการศึกษา งานแต่งงาน เป็นต้น นอกจากนี้ น้ำตาหรือการร้องไห้ยังอาจเป็นกลไกป้องกันตนเอง โดยใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังโกรธ มีความรู้สึกทางอารมณ์ที่รุนแรง หรือแค่เรียกร้องความสนใจจากอีกฝ่าย

 

ข้อดีของการร้องไห้

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหาคำตอบที่แน่นอนว่า ทำไมน้ำตาถึงช่วยได้แต่ก็มีการศึกษาที่ระบุว่าน้ำตาชนิดนี้ประกอบด้วย ฮอร์โมนความเครียดในระดับสูง คือ Adrenocorticotrophic hormone (ACTH) และ enkephalin ซึ่งเป็นเหมือนยาแก้ปวดจากธรรมชาติ ที่ถูกปล่อยเมื่อร่างกายอยู่ในความเครียด จนหลายครั้งเราก็รู้สึกว่าปล่อยตัวเองให้ร้องไห้จนรู้สึกดีขึ้นมาได้
• บรรเทาความเครียด การร้องไห้เป็นการปลดปล่อยฮอร์โมนความเครียด หรือขับสารพิษออกจากร่างกายและเป็นผลให้ความตึงเครียดลดลง
• ช่วยปรับร่างกาย สภาพจิตใจ และสภาวะอารมณ์ให้กลับสู่สมดุลได้
• ใจเย็นขึ้น ช่วยลดอุณหภูมิในสมอง เพราะการร้องไห้จะทำให้เราหายใจเร็วและเต็มปอดมากขึ้น จึงช่วยให้จิตใจสงบผ่อนคลายลงได้ เป็นน้ำที่อยู่ในดวงตาตลอดเวลา ที่คอยสร้างความหล่อลื่น บำรุงและปกป้องกระจกตา
• สื่อสารอารมณ์ความรู้สึก การร้องไห้สามารถแสดงสิ่งที่คำพูดไม่สามารถแสดงออกได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ ซึ่งใช้เมื่อต้องการสื่ออารมณ์ความรู้สึกทั้งสุขและทุกข์นั่นเอง


การรับมือเมื่อคนที่รักร้องไห้

หลายคนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คนรอบข้างหรือคนใกล้ชิดร้องไห้อาจรู้สึกไม่สบายใจและไม่รู้ว่าควรทำตัวอย่างไร การปลอบประโลมอย่างเหมาะสมและพยายามรับฟังอย่างใส่ใจอาจช่วยให้ผู้ที่กำลังสะเทือนอารมณ์รู้สึกดีขึ้น ทำได้ดังนี้
• รับฟังและให้กำลังใจอย่างเหมาะสมและตั้งอกตั้งใจ หากอยู่ในระดับที่สนิทกันมากอาจกอดปลอบหรือจับมือ
• ยิ่งสนิทกันน้อยเท่าไรก็ยิ่งควรระวังไม่ให้ก้าวก่ายเกินขอบเขตมากเท่านั้น เพราะอาจทำให้ผู้ที่กำลังอยู่ในอารมณ์เศร้าเสียใจรู้สึกแย่ลงและต่อต้าน อาจเริ่มจากการสอบถามว่าตนพอจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
• พยายามอย่าเพิกเฉย เพราะอาจทำให้ผู้ที่ร้องไห้รู้สึกแย่ลงกว่าเดิมได้

ขอบคุณข้อมูลจาก
pobpad.com
Thematter.co
Vichaiyut.com

 พักสายตา ฟัง audiobook บทความนี้คลิกเลย...

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้